กพช.ผ่านนำร่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรีแต่ไม่ให้ขายไฟเข้าระบบ

กพช. เห็นชอบโครงการนำร่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ ย้ำให้ผลิตใช้เองยังไม่ให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ คาด กกพ.ออกหลักเกณฑ์ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ก่อนเปิดให้ติดตั้งจริงปลาย ธ.ค. 2559 พร้อมอนุมัติให้ขยาย COD โซล่าร์ราชการสหกรณ์เป็น 30 ธ.ค.2559 กกพ.เร่งเปิดจับสลากให้ได้สิ้นเดือนมี.ค.นี้

Solar-roof

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบการรายงานโครงการนำร่องผลิตไฟฟ้าบนหลังคาแบบเสรี(โซล่าร์รูฟท็อป) 100 เมกะวัตต์ ภายใต้การบริหารของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(พีอีเอ) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง 50 เมกะวัตต์ 

 
โดยในแต่ละ 50 เมกะวัตต์ดังกล่าวจะแบ่งให้ทดลองในกลุ่มบ้านเรือน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งแต่ละหลังจะติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และกลุ่มอาคารธุรกิจ 40 เมกะวัตต์ ติดตั้งระหว่าง 10-1,000 กิโลวัตต์ แต่จะดูตามประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 1 ปีด้วย ซึ่งหมายความว่าจะเน้นไปที่กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในเวลากลางวัน เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการผลิตสำหรับใช้เองและควบคุมการไหลย้อนกลับเข้าระบบ ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการใช้และไหลเข้าระบบของการไฟฟ้านั้น จะยังไม่มีการคิดค่าไฟฟ้า
 
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ออกหลักเกณฑ์เปิดรับผู้ร่วมโครงการภายในเดือนมี.ค.นี้ และคาดว่าสิ้นเดือนธ.ค. 2559 ถึงต้นเดือนม.ค.2560 จะสามารถติดตั้งนำร่องได้ และจะประเมินผลเพื่อขยายโครงการไปสู่ภาพรวมของประเทศต่อไป 
 
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า ที่ประชุม กพช. ได้อนุมัติให้ขยายการขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซล่าร์ฟาร์ม)สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรออกไปจากเดือน ก.ย. 2559 เป็นเดือนธ.ค. 2559 แทน โดย กกพ. จะเร่งออกหลักเกณฑ์ พร้อมเปิดให้มีการจับฉลากผู้ร่วมโครงการภายในเดือนมี.ค. 2559 นี้ 
 
สำหรับโครงการโซล่ารูฟท็อป 200 เมกะวัตต์ ที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2556  และ 2558 นั้น ที่ประชุม กพช.ให้อนุมัติให้ขยาย COD ออกไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2559 นี้ โดยหากสามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันภายในสิ้นเดือนเม.ย. 2559 จะได้รับเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีทอินทารีฟ) เท่าเดิม  6.96 บาทต่อหน่วย แต่หากเกินเดือนเม.ย.นี้จะลดฟีทอินทารีฟลงเหลือ 6.85 บาทต่อหน่วย และถ้าเกิน 30 มิ.ย. 2559 จะถูกตัดสิทธิ์ทันที 
 
ส่วนโครงการโซล่าร์ฟาร์มค้างท่อนั้น กพช.มีมติให้ยกเลิกสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 31 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา ยกเว้นกลุ่มที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือยื่นอุทธรณ์กับภาครัฐ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายไป 
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังระบุถึงกรณีที่ผู้ประกอบโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ขอเปลี่ยนเงื่อนไขการรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ จากระบบเงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า(แอดเดอร์)เป็นระบบฟีทอินทารีฟ นั้น ที่ประชุม กพช.ได้อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้แบบมีเงื่อนไขห้ามฟ้องร้องหน่วยงานราชการและปรับลดระยะเวลาการได้รับฟีทอินทารีฟลง  โดยไม่ต้องนำเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาในที่ประชุมกพช.อีก  
 
นอกจากนี้ที่ประชุมกพช. ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เคยมีมติไว้ โดยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้เข้าสู่กระบวนการในการออกเป็นกฎหมายต่อไป
ที่มา : logo
2243 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้