โซลาร์ฟาร์ม “แบบหมุนตามดวงอาทิตย์” ของเอกชน 4 แห่งแรกของไทย

โซลาร์ฟาร์ม“แบบหมุนตามดวงอาทิตย์”ของเอกชน 4 แห่งแรกของไทย

81

      โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำหน้าที่ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจะถูกติดตั้งแบบยึดติดอยู่กับที่ ทำให้ได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้ดีเพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น เนื่องจากดวงอาทิตย์มีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก ปัจจุบันจึงมีการออกแบบระบบที่ทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์เคลื่อนที่ตามดวงอาทิตย์ได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นโดยอัตโนมัติระบบดังกล่าวเรียกว่า Tracking System หรือระบบ “หมุนตามดวงอาทิตย์” ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบคงที่ประมาณ 20% ปัจจุบันในบ้านเรามีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่นำเทคโนโลยีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบหมุนตามดวงอาทิตย์มาใช้แล้ว โดยโรงไฟฟ้าเอกชน 4 แห่งแรกของประเทศไทยที่นำระบบหมุนตามดวงอาทิตย์มาใช้ ซึ่งดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป ได้แก่

  • โรงไฟฟ้า “เอสพีพี ทู” จ.สระบุรี กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 205 ไร่ 
    เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555
  • โรงไฟฟ้า “เอสพีพี ทรี” จ.ศรีสะเกษ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 211 ไร่ 
    เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555
  • โรงไฟฟ้า “เอสพีพี โฟร์” อยู่รอยต่อระหว่าง จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ 
    ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 160 ไร่ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555
  • โรงไฟฟ้า “เอสพีพี ไฟว์” จ.ร้อยเอ็ด กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 185 ไร่ 
    เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2555

81

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “เอสพีพี ทู” อ.วังม่วง จ.สระบุรี
หลักการทำงานของระบบหมุนตามดวงอาทิตย์นี้ แผงเซลล์แสงอาทิตย์จะสามารถหมุนตามดวงอาทิตย์ เพื่อรับความเข้มของแสงได้สูงสุดตลอดวัน ซึ่งระบบดังกล่าวจะมีลักษณะเป็น “แขนกล” ทำหน้าที่หมุนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ โดยอาศัยการทำงานของซอฟต์แวร์ที่เก็บข้อมูลความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์ไว้ ซึ่งโปรแกรมนี้จะตั้งองศาการหันของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ตามมุมที่รับแสงได้มากที่สุดในแต่ละช่วงเวลา แผงเซลล์แสงอาทิตย์จะหมุนตาม ดวงอาทิตย์จากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ทุก 8 นาที การหมุนหนึ่งครั้งจะเปลี่ยนมุมไป 3 องศา และใช้เวลาหมุน 20 วินาที เมื่อแสงอาทิตย์หมดในตอนเย็น แผงเซลล์แสงอาทิตย์จะปรับมาอยู่ในตำแหน่ง Home ซึ่งเป็นตำแหน่งขนานกับพื้นดิน

สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งนี้ โดยปกติจะมีประมาณ 3 – 4 คน ต้องมีทักษะความรู้และได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในเรื่องระบบและโปรแกรมซอฟแวร์ที่ใช้ในการควบคุมการหันของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในการเซ็ตระบบควบคุมนี้ เพื่อให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์สามารถหมุนตามมุมที่รับแสงอาทิตย์ได้มากที่สุดในแต่ละช่วงเวลาระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบควบคุมจะรู้ตำแหน่งและแจ้งเตือนทันที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแถวของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เกิดความผิดปกตินั้น

82  83

เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “เอสพีพี ทู” จ.สระบุรี
กำลังตรวจสอบ “แขนกล” ที่ทำหน้าที่หมุนแผงเซลล์แสงอาทิตย์
ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้า “เอสพีพี ทู” “เอสพีพี ทรี” “เอสพีพี โฟร์” และ “เอสพีพี ไฟว์” จะจ่ายไฟฟ้าทั้งหมดที่ได้รับจากพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละวันเข้าสู่ระบบ (ไม่มีการเก็บไว้ในแบตเตอรี่) โดยเชื่อมโยงกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้ง 4 แห่งนี้ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Non-Firm สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากกับ กฟภ.

 

ที่มา : egco.com

2683 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 ผู้เยี่ยมชมวันนี้