โซลาร์รูฟท็อป พลังอนาคตของชาติ

855533

นับตั้งแต่ปี 2539 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหลายสิบไร่บริเวณ บ้านทุ่งศาลา ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี ถูกพัฒนาให้กลายเป็นบ้านรองรับเด็กเล็กและเยาวชนหญิง ที่ประสบปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว

แหล่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ถูกคาดการณ์ว่าจะมีใช้อีกไม่ถึง 10 ปี ในขณะที่ไทยอยู่ในประเทศเขตร้อน พลังงานแสงอาทิตย์จึงกลายเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยทดแทนการผลิตกระแสไฟฟ้า

“โซลาร์รูฟท็อป” โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและอาคารธุรกิจ เป็นมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่กระทรวงพลังงานได้พยายามเร่งผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เป้าหมายเพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และขายผลผลิตเข้าสู่ระบบ โดยมีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านภาษี ตลอดไปจนถึงอัตรารับซื้อที่เหมาะสม และหากมีปริมาณไฟฟ้าเหลือก็สามารถนำมาใช้ในกิจการของตนเองได้อีก กลายเป็นทางเลือกที่สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ในระยะยาว

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากที่ชัดเจนทั้งกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติ จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)โดยกำหนดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น บ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์ จำนวน 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก -กลาง -ใหญ่ ที่ติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์ จำนวน 100 เมกะวัตต์ ทำให้มีผู้สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็คือ “มูลนิธิดวงประทีป จ.กาญจนบุรี” องค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเด็กเยาวชนไร้ที่พึ่ง และถูกล่วงละเมิด ในสังคมไทยมากว่า 20 ปี

นับตั้งแต่ปี 2539 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมหลายสิบไร่บริเวณ บ้านทุ่งศาลา ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี ถูกพัฒนาให้กลายเป็นบ้านรองรับเด็กเล็กและเยาวชนหญิง ที่ประสบปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว ไร้ที่พึ่ง และด้อยโอกาสในสังคม ภายใต้การดูแลของ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป ซึ่งผลักดันจนทำให้เกิด “ศูนย์นิวัฒน์สู่ชีวิตใหม่ มูลนิธิดวงประทีป จ.กาญจนบุรี” บ้านของเด็กชายและเด็กหญิงที่กำลังรอคอยโอกาสเพื่อก้าวเข้าไปสู่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในสังคม

ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้มีเด็กเล็กทั้งชายหญิงและเยาวชนหญิงอายุตั้งแต่ 5-25 ปี อยู่ร่วมกัน 56 คน บวกกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอีก 80 คน ในแต่ละเดือนมีรายจ่ายค่าใช้ไฟฟ้ากว่า 3 หมื่นบาท จากกิจกรรมและภารกิจดูแลพัฒนาชีวิตเยาวชนภายในศูนย์ฯ นับตั้งแต่ ไฟส่องสว่าง, คอมพิวเตอร์, พัดลม, เครื่องปรับอากาศ, ฝึกอาชีพ, ทำครัว, ทำความสะอาด เป็นต้น ถือเป็นภาระที่หนักในการหาเงินทุนมาสนับสนุนทั้งต่อเดือนและรายปี อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบข่าวว่ากระทรวงพลังงานผลักดันโครงการโซลาร์รูฟท็อปอย่างจริงจังก็ได้ติดตามข่าว จนกระทั่งมีการเปิดให้ขออนุญาตจึงได้ยื่นเรื่องตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วจนกระทั่งสามารถดำเนินการติดตั้งได้ในที่สุด

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของที่นี่ ดำเนินการในขนาดของบ้านที่อยู่อาศัยคือผลิตกำลังไฟฟ้า 10 กิโลวัตต์ ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 800,000 บาท ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายคืนไปให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ.ในอัตรา 6.96 บาทต่อหน่วย โดยจะมีรายได้จากการขายไฟประมาณ 8-9 พันบาทต่อเดือน ครูประทีปคาดว่าจุดคุ้มทุนอยู่ในราว 7 ปี หลังจากนั้นก็คือผลกำไรที่จะนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนดูแลภายในศูนย์ฯ แห่งนี้

“การใช้แสงอาทิตย์เป็นพลังงานคือการคิดที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม และโครงการโซลาร์รูฟท็อปก็ถือเป็นนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน รู้สึกดีใจที่จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้านำกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาหาร การพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสให้กับเด็ก ๆ หลายสิบชีวิตที่นี่ ในอนาคตหากขยายกำลังผลิตเพิ่มไปถึง 30 กิโลวัตต์ได้ก็จะยิ่งดี เพราะนอกจากจะขายไฟได้แล้ว ยังมีไฟฟ้าเหลือพอที่จะนำมาใช้ในศูนย์และช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้อีกเยอะทีเดียว” ครูประทีป กล่าว

ด้านนายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการโซลาร์รูฟท็อปว่า หลังจากการเข้าบริหารงานของ คสช. พบประเด็นความขัดแย้งเรื่องกฎระเบียบระหว่างส่วนราชการ เช่น เรื่องประกาศความเป็นโรงงาน หรือ รง.4 ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประกาศสถานที่อนุญาตตั้งโรงงาน และเงื่อนไขการดัดแปลงอาคารที่เกี่ยวข้องกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดต่อการขออนุญาตดำเนินโครงการ แต่ในปัจจุบันได้แก้ไขไปแล้วหลายส่วน เพื่อให้การดำเนินโครงการง่ายขึ้น โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก

“ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ควรเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลตั้งแต่ ขั้นตอนประเมินโครงสร้างหลังคาของอาคารบ้านเรือนว่ามีขนาดประมาณเท่าไหร่ หันไปในทิศทางใด สำหรับประเทศไทย ทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ควรหันหน้าไปทางทิศใต้ หรือทางทิศตะวันตก เพราะจะได้แสงแดดยาวนานกว่า และควรอยู่ในทิศที่ไม่มีร่มเงาของต้นไม้หรือสิ่งอื่น ๆ มาบดบัง และยังควรประเมินปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนของตนเองด้วยว่าประมาณเท่าใด เพราะในอนาคตนอกจากจะผลิตเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าแล้ว ยังอาจจะผลิตไฟเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย”

โซลาร์รูฟท็อป อีกหนึ่งโครงการที่จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแสงอาทิตย์ แหล่งพลังงานสะอาดที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด จะกลายเป็นพลังอนาคตของชาติ หากเรารู้จักใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า!!!

 

ผู้แนะนำข่าว : มิสเตอร์ โซล่าเซลล์
ที่มา : นสพ.เดลินิวส์
logo-dailynews

2192 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้