บทความ : ธุรกิจ “โซลาร์เซลล์” ธุรกิจพลังงาน เริ่มต้นที่บ้าน

so

วันนี้เราจะพามารู้จักกับ  ธุรกิจ  “โซลาร์เซลล์”  หรือการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์  เรียกว่าเป็นธุรกิจแห่งอนาคตจริงๆ ครับ ….คุณมีบ้านก็สามารถมีธุรกิจเป็นของตนเองได้ครับ และเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภค คนทั่วไปมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะประเภทการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) สำหรับกลุ่มบ้านเรือนที่อยู่อาศัย  ที่วันนี้หากใครสนใจทำธุรกิจก็ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะทันทีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้เข้ามาปลดล็อกเรื่อง ใบ รง.4 โดยกำหนดว่า “โซลาร์ รูฟท็อป” ที่ติดตั้งไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน จึงไม่ต้องขอใบ รง.4 อีกต่อไป 

20150616155649

พร้อมๆ กับ หนทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันยังมีบริษัทที่รับดำเนินการตั้งแต่ยื่นเอกสารเพื่อขออนุญาตดำเนินการ  การติดตั้งแผงโซลาร์ ไปจนถึงการขายไฟให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็น “One Stop Service”  เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของบ้านที่สนใจ

นอกจากนี้ ธุรกิจดังกล่าว ยังเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐให้การสนับสนุน โดยตั้งแต่ต้นปี 2558 การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วน     ภูมิภาค เปิดให้ยื่นแบบคำขอจำหน่ายไฟฟ้า เฟสที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน 2558 

หนึ่งในผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจนี้ “ประเสริฐ ชูแสง” ผู้ถือหุ้นบริษัท แอล โซลาร์ 1 ถือเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) จากเซลล์แสงอาทิตย์รายใหญ่รายหนึ่ง ในประเทศไทย และอีกตำแหน่งคือ “ประธานกรรมการบริหาร” บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เขาเลือกที่จะดำเนินการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อ 2 ปีก่อน จนสามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แทนการว่าจ้างบริษัทตัวแทนดำเนินการให้ มาบอกเล่าเรื่องราวของการทำธุรกิจโซลาร์ รูฟท็อป ให้ผู้อ่านเป็นข้อมูล ความรู้ สำหรับการลงทุนในอนาคต

เขาเล่าว่า ถ้าใครติดแผงโซลาร์บนหลังคาเพื่อใช้ภายในบ้าน ช่วยประหยัดค่าไฟ ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าต้องการผลิตเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฯ ด้วย จะต้องติดอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติตามที่การไฟฟ้ากำหนด เช่นติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 มิเตอร์ ที่การไฟฟ้าฯ เรียกว่า “มิเตอร์ซื้อ” คือ มิเตอร์ที่การไฟฟ้าฯ ซื้อไฟจากเรานั่นเอง

20150616155618

“ปัจจุบันการไฟฟ้าฯ รับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้า “โซลาร์ รูฟท็อป” ประเภทบ้านที่อยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ประเภทบ้านอยู่อาศัยในอัตรา 6.85 บาท ต่อหน่วย ซึ่งสูงกว่าราคาค่าไฟ 3 บาทเศษต่อหน่วย ที่เราต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้าฯ เพราะรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้มีการผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทน เพื่อลดการผลิตไฟฟ้า จากทรัพยากรพลังงานประเภทที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีต้นทุนสูง”

หากดูจากข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ปัจจุบันไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้อยู่ ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ 65%, นำเข้า 7% พลังงานทดแทน 6% น้ำมัน 1% และถ่านหิน/ลิกไนต์ 21% (ข้อมูลเดือน มกราคม-มิถุนายน 2557)

พร้อมระบุอีกว่า ปัจจุบันพลังงานทดแทนมีหลายประเภท ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำ, พลังงานลม, พลังงานชีวมวล ฯลฯ ซึ่งมีต้นทุนการผลิต และอัตราการรับซื้อจากการไฟฟ้าไม่เท่ากัน แต่ ณ วันนี้ พลังงานทดแทนที่น่าสนใจที่สุดในแง่การลงทุนยังคงเป็น “โซลาร์เซลล์” ด้วยเหตุผลหลักๆดังนี้

  1. ราคารับซื้อจากการไฟฟ้าฯ ปัจจุบัน 6.85 บาทต่อหน่วย แม้จะลดลงจากสมัยก่อนที่ ประมาณ 11 บาท ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ยังถือว่าเป็นราคาที่น่าสนใจ และคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะเทียบแล้วเป็นราคาที่สูงกว่าค่าไฟที่เราจ่ายให้กับการไฟฟ้าฯ เท่าตัว
  2. การลงทุนไม่ยากจนเกินไป เพียงที่บ้านมีหลังคาบ้าน ซึ่งมีข้อแม้ว่าต้องเป็นหลังคาที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ และบ้านอยู่ ณ ที่ตั้งที่เหมาะสม

“วิธีที่ผมดูคือ ไปหาว่าบ้านผมอยู่ตรงไหน ใน Google Earth แล้วนำมาทำเป็นรูป 1 รูป เพื่อดูทิศทางของดวงอาทิตย์ขึ้นและตก เพื่อศึกษาว่าเราควรจะติดตั้งแผงโซลาร์ไว้ที่มุมด้านไหนของหลังคาบ้าน จึงจะเหมาะสมที่สุด “

ด้วยข้อกำหนดของ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” ระบุว่า บ้านที่อยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งต้องไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (1 หมื่นวัตต์) ดังนั้น หากใครต้องการลงทุนโซลาร์ รูฟท็อป ว่าต้องติดตั้งไม่เกินกี่แผง คิดง่ายๆ คือ  1 แผง คิดเป็นประมาณ 300 วัตต์  ดังนั้น การติดตั้งต้องไม่เกิน 33 แผง ซึ่งปัจจุบันที่บ้านของเขาติดตั้งตามโควตาสูงสุดที่กำหนดคือ กว่า 30  แผง  

เขาเล่าประสบการณ์ การขายไฟฟ้าได้ครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีเช็คฉบับแรกจากการไฟฟ้านครหลวง  โดยครึ่งเดือนได้ 2,700 บาท หลังจากใช้เวลาดำเนินการมาปีเศษๆ

“ตอนนั้นผมลงทุนไปหลายแสน เทียบระยะเวลาคืนทุน 6-7 ปี รายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ เฉลี่ยเดือนละ 4-5 พันบาท ที่สำคัญ คือการได้รับเงินค่าไฟกลับมาครั้งแรกในชีวิต อันนี้คือความรู้สึกที่ดีมากเลย”

สุดท้ายเขาแนะนำ ขั้นตอนการเริ่มต้นลงทุนธุรกิจ “โซลาร์ รูฟท็อป” สำหรับผู้ที่สนใจ เริ่มจาก การเข้าไปศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” www.erc.or.th จะมีรายละเอียดขั้นตอนดำเนินการทั้งหมด หลังจากนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมคือ เอกสารต่างๆ หรือถ้าใครไม่อยากยุ่งยาก ปัจจุบันก็จะไม่มีบริษัทที่รับดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่ติดต่อหน่วยราชการ ขอใบอนุญาต ติดตั้งแผงโซลาร์ จนสามารถขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ

สำหรับค่าบริการ ปัจจุบันลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อ 2-3 ปีก่อน เช่น สมัยก่อน 5 กิโลวัตต์ จะคิดค่าดำเนินการประมาณ 3.9 แสน ปัจจุบันเหลือประมาณ 3 แสนบาท ถ้า 10 กิโลวัตต์ตอนนี้น่าจะเหลือ 6 แสนบาท

“ส่วนตัวผมลงทุนไปกว่า 6 แสนบาท แต่ตอนนั้นยังแพงอยู่ ตอนนี้ถูกลงแล้ว แต่ถูก-แพงไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการคิดว่าจะลงทุนในธุรกิจนี้หรือไม่ สำคัญคือ มันคุ้มค่าหรือเปล่า ถ้าคิดในแง่นี้ ธุรกิจโซลาร์ รูฟท็อป ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะผ่าน 6-7 ปี จากนี้ก็ใช้ไฟฟรี และมีรายได้จากการขายไฟฟ้าด้วย แต่คงต้องรีบหน่อยนะครับ เพราะต้องยื่นอกสารให้ครบถ้วนภายใน มิ.ย. และติดตั้งให้เสร็จ พร้อมจ่ายไฟได้ ภายในสิ้นปีนี้”  

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างธุรกิจ ที่ยังคงหอมหวน และคุ้มค่าต่อการลงทุนในยุคสมัยนี้

แนะนำข่าว : คุณสงกรานต์ ชิดเชื้อ
ที่มา : logo_tcg120x120 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

[sc:720x90yengo]

3050 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้