ซีอีโอ ปตท. พาคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทย ดูความคืบหน้าโครงการ Ichinoseki Solar Power 1GK มั่นใจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศโรงแรกของกลุ่ม ปตท. ซึ่งลงทุนเมื่อ 2 ปีก่อนโดยบริษัทลูก GPSC จะแล้วเสร็จและขายไฟได้ภายในเดือน ธ.ค. 2560 นี้
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการ Ichinoseki Solar Power 1GK มีความคืบหน้าในส่วนของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วประมาณ 30% ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จจนสามารถขายไฟฟ้าได้ ภายในเดืิอนธันวาคม 2560 นี้
ทั้งนี้ เหตุผลที่กลุ่มปตท. ตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะกระแสของโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานหมุนเวียน ในขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นแนวหน้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตพลังงานสะอาด มีตลาดไฟฟ้าที่ค่อนข้างเปิดเสรี รวมทั้งมีอัตราค่าไฟฟ้าที่สูง จูงใจให้เกิดการลงทุน ดังนั้นการที่กลุ่มปตท. ตัดสินใจมาลงทุนที่ญี่ปุ่นจึงเป็นการสร้างความชัดเจนว่า ในอนาคต ปตท.กำลังจะมุ่งไปในแนวทางของพลังงานหมุนเวียน
ในอนาคตเราจะใช้พลังงานในรูปแบบไฟฟ้ามากขึ้น และใช้พลังงานในรูปแบบอื่นน้อยลง กลุ่ม ปตท.จึงให้ความสำคัญใน Electricity Value Chain ทั้ง Energy Storage โรงไฟฟ้า และรถไฟฟ้า เพราะต้องการที่จะเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลง มากกว่าที่จะเป็นผู้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง
นายเทวินทร์ กล่าว
ด้านนายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า โครงการ Ichinoseki Solar Power 1GK ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาด 560ไร่ ของเมือง อิจิโนเชกิ จังหวัดอิวาเตะ ประเทศญี่ปุ่น มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าตามสัญญา 20.8 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน ประมาณ10,000 ล้านเยน หรือราว 3,000 ล้านบาทไทย
โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาในการขายไฟฟ้า 20 ปี โดยได้รับอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบของ Feed in Tariff – FiT ที่ 40 เยนต่อหน่วย กำหนดขายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ วันที่ 15 ธันวาคม 2560 และมีผลตอบแทนการลงทุนตลอดอายุโครงการประมาณ 10%
นายเติมชัย กล่าวว่า GPSC อยู่ในระหว่างการพิจารณาขยายการลงทุน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แห่งที่ 2 ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 15เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในการลงทุนโครงการดังกล่าว GPSC เลือกใช้อุปกรณ์และแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นเทคโนโลยีจากเยอรมัน รวมทั้งส่งทีมจากประเทศไทยมาควบคุมโครงการตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้การดำเนินงานของผู้รับเหมาถูกต้องตามขั้นตอนกฎกมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่มา