พพ.ชงเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีรอบใหม่หลังมิ.ย.2560ยอมให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้

พพ.ชงเปิดโครงการโซล่าร์รูฟท็อปเสรีทั่วประเทศ รอบใหม่หลังเดือนมิ.ย. 2560  ตั้งเกณฑ์ให้ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้  แต่ค่าไฟถูก  เพราะยังต้องการให้ผลิตเพื่อใช้เองเป็นหลัก ยอมรับโครงการนำร่อง 100 เมกะวัตต์  ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแต่จะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่เข้าร่วมโครงการ โอนย้ายเข้ามาอยู่ในระบบโซล่าร์รูฟท็อปเสรีที่จะเปิดใหม่ ได้ในอนาคต

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ สั่งการให้ พพ. พิจารณาโครงการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา(โซล่าร์รูฟท็อป)เสรีทั่วประเทศ รอบใหม่  ในรูปแบบการผลิตใช้เองและสามารถขายเข้าการไฟฟ้าได้ด้วย โดยขณะนี้ได้เริ่มตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายละเอียดทั้งปริมาณที่จะเปิดรับซื้อ การจัดการสายส่งไฟฟ้า แล้ว โดยคาดว่าจะสรุปรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆและนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาได้ในเดือน ม.ค. 2560 นี้   และคาดว่าจะเริ่มเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการได้ประมาณหลังเดือนมิ.ย. 2560 เป็นต้นไป

โซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน-โซลาร์รูฟ

อย่างไรก็ตามโครงการโซล่าร์รูฟท็อปเสรีทั่วประเทศนั้น มีเป้าหมายให้เกิดการผลิตและใช้ไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือนของตัวเองเป็นหลัก โดยไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ และจะขายกลับเข้าระบบสายส่งการไฟฟ้านั้น จะมีการพิจารณาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการเทขายเข้าระบบจำนวนมาก โดยเบื้องต้นอาจกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ต่ำกว่าอัตราฟีทอินทารีฟ(เงินสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง)ของกลุ่มโซล่าร์เซลล์ที่ปัจจุบันรับซื้ออยู่ 4.12 บาทต่อหน่วย  โดยอาจกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำมาก เพียง 1 บาทต่อหน่วย  เพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนมีแรงจูงใจที่จะผลิตเพื่อหวังรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้าระบบ 

สำหรับปริมาณการผลิตไฟฟ้าโซล่าร์รูฟท็อฟเสรีทั่วประเทศนั้น จะดำเนินการเป็นระยะ  และกำหนดพื้นที่ในการดำเนินการเนื่องจากระบบรองรับยังไม่พร้อม 100% ทั้งนี้การจะเปิดให้ผลิตได้กี่เมกะวัตต์นั้นขึ้นอยู่กับข้อจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้า(กริด)เป็นหลัก

นายประพนธ์ กล่าวว่า จากการหารือในคณะทำงานรอบแรกพบว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ยินยอมให้ผู้ผลิตไฟฟ้า จ่ายไฟฟ้าย้อนกลับเข้าหม้อแปลงไฟฟ้าได้ไม่เกิน 15% ของหม้อแปลง ทั้งนี้ พพ.จะต้องไปเฉลี่ยปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบให้กับผู้ร่วมโครงการอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้สายส่งไฟฟ้าที่สามารถรับไฟฟ้าโซล่าร์รูฟท็อปเสรีได้นั้น พบว่ายังเหลือพื้นที่ของ กฟน.จำนวนมาก ดังนั้นในระยะแรก  พื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการรูฟท็อปเสรี น่าจะเป็นในพื้นที่กทม.และปริมณฑลเป็นส่วนใหญ่

นายประพนธ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการนำร่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรี ที่ปิดโครงการไปแล้ว และได้ปริมาณไฟฟ้าเพียง 38.38 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์นั้น จะเริ่มมีการติดตั้งและผลิตไฟฟ้าประมาณเดือนม.ค. 2560 และจะรายงานผลการนำร่องโครงการให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาในเดือนพ.ค. 2560 ทั้งนี้แม้จะได้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าไม่มาก เพราะมีข้อกำจัดห้ามขายไฟฟ้าเข้าระบบ  โดยให้ผลิตเพื่อใช้เองเท่านั้น  ทำให้ไม่จูงใจเข้าร่วมโครงการ แต่ก็สามารถนำผลการทดสอบนี้ไปใช้กับโครงการโซล่าร์รูฟท็อปเสรีทั่วประเทศได้ ทั้งในด้านเทคนิคการผลิต ติดตั้ง ระบบไฟฟ้าที่รองรับ เป็นต้น โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปิดโครงการนำร่องโซล่าร์รูฟท็อปเสรีที่ 38.38 เมกะวัตต์ และผู้ที่สมัครร่วมโครงการนี้ย้ายโอนเข้าไปอยู่ในโครงการโซล่าร์รูฟท็อปเสรีทั่วประเทศที่จะเปิดรอบใหม่ หลังเดือนมิ.ย.2560 นี้

ที่มา – Energy News Center

3701 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้