“นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
ต้องการให้สัดส่วนเพิ่มจากปัจจุบันที่มีไม่ถึง 10% ให้ไปใกล้ 20%
ในประมาณ 12 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้พลังงานแสงอาทิตย์
หรือโซลาร์เซลล์จะมากที่สุด”
โลกของเราอาศัยพลังงานหลักจากพระอาทิตย์ซึ่งส่องแสงให้มนุษย์อย่างเท่าเทียม
สามารถสร้างพลังงานต่อเนื่องอื่นๆ หากต่อมามนุษย์เก่งกว่าธรรมชาติ รู้จักคิดค้นจนกระทั่ง
ไปพึ่งพาการใช้วัตถุดิบบนโลกมาแปรรูปเป็นพลังงาน ไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน
เรียกว่าเป็นยุคที่มนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้ แต่ในขณะเดียวกันจำนวนมนุษย์บนโลก
ก็ทวีเพิ่มขึนจนกระทั่งปัจจุบันมีมากถึง 7,000 ล้านคน ก็ทำให้มีความจำเป็นต้อง
มีการบริหารจัดการพลังงานที่ดีกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างกาซคาร์บอนที่มากเกินไป
ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อภาวะโลกร้อนที่มนุษย์กำลังประสบกัน และประเทศไทย
ของเราก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีหลักคิดใน 3 มิติหลัก คือ
1. Security หรือ การสร้างหลักให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย
2. Economy การสร้างความประหยัด
3. Ecology หรือภาวะแวดล้อมที่พอดี ทั้งหมดคือกรอบหลักในนโยบายพลังงานของประเทศไทยที่มีความสำคัญเท่ากันหมด
สำหรับพลังงานทดแทน เราจะเอายังไง ผมตอบได้เลยว่าต้องให้มีมากขึ้น ซึ่งตามสถิติล่าสุดที่ใช้กันอยู่ พลังงานทดแทนทุกประเภท ยังมีใช้รวมกันเพียง 6 % เท่านั้น
ผมยืนยันว่า นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ต้องการให้สัดส่วนเพิ่มจากปัจจุบันที่มีไม่ถึง 10% ให้ไปใกล้ 20% ในประมาณ 12 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์จะมากที่สุด ตามด้วยชีวมวล และลม ฯลฯ
เรื่องโซลาร์เซลล์นั้นน่าสนใจตรงที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีมาก ต้นทุนเริ่มถูกลง การติดตั้งก็ง่ายขึ้น และติดได้สารพัดรูปแบบทั้งบนหลังคา และฝาผนัง นอกจากตั้งบนพื้นที่เรียกว่า โซลาร์ฟาร์ม
ที่จริงรัฐบาลก่อนหน้าก็ส่งเสริมไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 แต่เดิมเคยตั้งเป้าไว้ 500 MW แล้วเพิ่มมาเป็นลำดับ จนถึง 3,000 MW เมื่อปี 2556 เพราะมีผู้สนใจลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากต้นทุนที่ลดลงรวดเร็ว แต่ก็เกิดผลิตจริงๆ เพียงประมาณ 1,400 MW โครงการยังค้างท่ออยู่สารพัดสภาพ ด้วยเหตุผลสารพัด ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการอนุมัติที่มีระเบียบและเงื่อนไข ซึ่งดูเหมือนยากจะเข้าใจ
คสช.+ครม. เมื่อเข้ามาแล้วก็พยายามเคลียร์ท่อและเพิ่มให้เป็น 3,800 MW เพราะเห็นว่า ต้นทุนต่ำลงมาก ขายเข้าสายส่งให้ราคา 5.66 บาทต่อหน่วย สัญญายาว 25 ปีเลย เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้า คงจะขึ้นไปถึงระดับนั้นใน 5-10 ปีข้างหน้า การเคลียร์ท่อ รวมเรื่องการอนุมัติใหม่ และยกเลิกโครงการเก่าที่ทำไม่ได้ตามสัญญาด้วย
จากการดำเนินการดังกล่าว ผมประมาณว่า เราน่าจะมีโครงการโซลาร์เซลล์ ที่เข้าขบวนการติดตั้งในปี 2558 ประมาณ 2,000 MW ซึ่งก็จะดีต่อธุรกิจโซลาร์เซลล์ที่ปัจจุบันมีทั้งการผลิตและขายแผง การทำอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งที่ใช้ในการติดตั้ง และบริหารระบบไฟฟ้า ซึ่งจากงานสัมมนาและแสดงนิทรรศการพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้เห็นว่ามีการพัฒนาไปไกลมาก
และจากการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์พลังงานที่ว่างเว้นการประชุมมานาน เพราะติดขัดเรื่องระเบียบอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ล่าสุดได้มีมติอนุมัติโครงการเป็นจำนวนมาก งบประมาณรวม 6,900 ล้านบาท เป็นงบงานกลุ่มเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency) 2,700 ล้านบาท และทดแทนพลังงาน (Renewable Energy) 4,000 ล้านบาท และบริหารงานอีก ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการแล้ว คาดว่า จะช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างมาก ขอให้ท่านประชาชนคอยติดตามผลงานได้เลยครับ
ส่วนในเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงให้ความสำคัญมากในแผนพัฒนาพลังงานฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายให้ลดความจำเป็นที่ต้องสร้างกำลังการผลิตที่จะเพิ่มตามความต้องการใช้ไฟฟ้า ให้ได้เฉลี่ยปีละ 500 MW ที่ผมเคยเรียกว่า 500 เนก (จาก Megawatt เป็น Negawatt ก็คือ ไม่สร้าง) นั่นแหละครับ
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์
[sc:720x90yengo]