ธุรกิจการผลิตไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มทุนทั้งรุ่นใหม่และเก่า เนื่องจากให้ผลกำไร ค่อนข้างดีและต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมอย่างเข้มข้น และหนึ่งในพลังงานทดแทนที่กลุ่มทุนหลายรายให้ความสนใจ คือ การผลิตไฟฟ้าจากแสง แดด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภทที่ภาครัฐให้เงินสนับสนุนซื้อขายไฟฟ้า
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการส่งเสริมโซลาร์เซลล์ เกิดปัญหาความไม่โปร่งใส ในการทำสัญญาซื้อขายใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (พีพีเอ) จนเป็นเรื่องอื้อฉาวกันมาแล้ว โดยเมื่อประมาณปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ รัฐบาลให้เงินสนับสนุนสำหรับรับซื้อไฟฟ้า หรือที่รู้จักกันในชื่อแอดเดอร์ เป็นจำนวนมากถึง 8 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรวมกับราคาขายไฟฟ้าปกติตอนนั้นประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วย จะทำให้ผู้ขายมีรายได้ประมาณ 10-11 บาทต่อหน่วย ขณะที่ต้นทุนนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ยังสูงประมาณ 7-8 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ทำให้ผู้ผลิตมีกำไรแน่ๆ ประมาณ 3-4 บาทต่อหน่วย
แต่ต่อมาอีก 2 ปี หรือในปี 2553 ต้นทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์กลับมีราคาถูกลง ประ กอบกับภาครัฐปรับค่าไฟฟ้าใหม่ขึ้นเป็น 3 บาทต่อหน่วย ทำให้กลุ่มทุนผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้กำไรเพิ่มขึ้นทั้งจากต้นทุนที่ถูกลง และราคารับซื้อที่เพิ่มเป็น 3 บาทต่อหน่วย ดังนั้น รัฐบาลจึงปรับราคาแอดเดอร์ลงมาอยู่ที่ 6.50 บาทต่อหน่วย
ในช่วงนี้เองที่ก่อให้เกิดการนำใบซื้อขายไฟฟ้าที่ได้แอดเดอร์ 8 บาทต่อหน่วย ไปเร่ขายกันใบละ 5-10 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่ใครๆ เรียกว่า “ยุคเสือกระดาษ” จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้กระทรวงพลังงานตามแก้ไข ทั้งบอกเลิกสัญญาที่มีแนวโน้มจะไม่ผลิตจริง และปล่อยให้หมดสัญญาไปตามอายุ รวมทั้งปรับเปลี่ยนระบบการสนับสนุนจากระบบแอดเดอร์ มาเป็นการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีทอินทารีฟ) แทน
และภายหลังจากที่มีรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาดูแลประเทศ ได้มีการปรับเป้าหมายการผลิตโซลาร์เซลล์กันใหม่ โดยปรับให้สอดคล้องไปพร้อมกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือ พีดีพี 2015 ที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประมาณปลายเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค.2558 ต่อไป
นายสุชาลี สุมามาลย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งบรรจุในแผนพีดีพี 2015 ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ ได้กำหนดให้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 6,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันติดตั้งแล้วประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ และกำลังเดินตามเป้าหมายใน “แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (2555-2564) หรือ เออีดีพี” ที่จะผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดให้ได้ 3,800 เมกะวัตต์ ในปี 2564 ซึ่งล่าสุดยังเหลือเป้าหมายที่ต้องผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์อีก 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าเข้าช่วงปลายแผนพีดีพี 2015 จะทยอยเข้าระบบ
สำหรับการผลิตไฟฟ้าตามแผนเออีดีพี 3,800 เมกะวัตต์นั้น แบ่งเป็น1.การผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่บนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้เข้าระบบแล้ว 1,400 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 800 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา กรณีที่ผู้ประกอบการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว แต่กลับนำใบสัญญาไปขายต่อ พร้อมกันนี้ กพช.ได้สั่งให้หยุดรับซื้อไฟฟ้าชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2553 เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จนเมื่อยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2557 ให้กลับมาเร่งรัดซื้อไฟฟ้าที่ค้างอยู่ (กลุ่มค้างท่อ) 800 เมกะวัตต์ให้เสร็จโดยเร็ว ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้จัดการเคลียร์กลุ่มค้างท่อแล้ว และเหลือเพียง 3 ราย รวมปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 3.8 เมกะวัตต์ ที่ไม่ติดต่อขอผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์แต่อย่างใด ซึ่งกลุ่มค้างท่อนี้จะได้รับฟีทอินทารีฟในอัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย และยกเลิกการให้แอดเดอร์ 6.50 บาทต่อหน่วยไป ทั้งนี้ ต้องเริ่มผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน ธ.ค.2558 นี้เท่านั้น
2.การผลิตไฟฟ้าบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป จำนวน 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นอาคารโรงงาน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหมดแล้ว, การผลิตไฟฟ้าบ้านเรือนอีก 100 เมกะวัตต์ มีผู้สนใจผลิตเพียง 30 เมกะวัตต์ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเปิดรับเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนดังกล่าวต่อไป
สำหรับกลุ่มนี้หากเป็นบ้านอยู่อาศัย กำลังผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ จะได้ฟีทอินทารีฟ 6.96 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มอาคารธุรกิจโรงงาน กำลังผลิต 10-250 กิโลวัตต์ จะได้ฟีทอินทารีฟไม่เกิน 6.55 บาทต่อหน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจโรงงาน กำลังผลิต 250-1,000 กิโลวัตต์ จะได้ฟีทอินทารีฟไม่เกิน 6.16 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มบ้านเรือนที่เปิดรับซื้อเพิ่มอีกกว่า 70 เมกะวัตต์ เพื่อให้เต็มจำนวนเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์นั้น จะได้ฟีทอินทารีฟลดลงเหลือ 6.85 บาทต่อหน่วย กำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ มิ.ย.2558 นี้
และ 3.การผลิต ไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลัง คาอาคารราชการอีก 800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเข้าระบบได้ประมาณปี 2559 ต่อไป
สำหรับโครงการโซลาร์เซลล์ราชการนี้ ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานอย่างมาก แต่ก็เป็นโครงการที่น่าจับตาดูกันอย่างมาก เนื่องจากแต่เดิมเป็นโครงการที่จะให้ชุมชนผลิตไฟฟ้า 1 ชุมชน 1 เมกะวัตต์ โดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ แต่ติดปัญหาเพราะเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ต้องรับความเสี่ยงสูง และต้องเป็นสหกรณ์ในการขอกู้ ซึ่งทำให้โครงการดังกล่าวต้องปรับรูปแบบใหม่ไปให้
หน่วยงานราชการดำเนินการแทน
และด้วยการปรับรูปแบบใหม่ ทำให้มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานราชการต่างๆ แม้กระทั่งหน่วยงานของทหาร เพราะมีความพร้อมในด้านพื้นที่โดย นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ได้ยื่นหนังสือขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาโครงการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ในหน่วยงานราชการจำนวน 20 แห่ง รวมกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ ที่ร่วมกับภาคเอกชนแห่งละไม่เกิน 5 เมกะวัตต์
และจากกระแสการตอบรับดังกล่าวนั้น ทำให้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาหาประโยชน์ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนั้น
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาชี้แจงและเตือนภัยว่า “ขอแจ้งข่าวให้หน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งมีความจำนงจะขอเข้าร่วมการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินทราบว่า หลังจากที่ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งได้ออกประกาศล่าสุดไปเมื่อวันที่ 13 มี.ค.2558 กระทรวงพลังงานขอแจ้งว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับสมัครการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขของผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะนโยบายโซนนิ่ง (Zoning) ให้มีความเหมาะสมกับความสามารถสายส่งไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายพื้นที่ โดยคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะมีการพิจารณากำหนดให้เกิดความโปร่งใสสูงสุด เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”
นอกจากนี้ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ระบุชัดว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมไฟฟ้าหมุนเวียน อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะอนุกรรมการพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เข้าโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยราชการที่ชัดเจน มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ดังนั้น ในระหว่างนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัครการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะนโยบายโซนนิ่งให้มีความเหมาะสมกับความสามารถสายส่งไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่หลายพื้นที่
พร้อมทั้งย้ำอีกว่า ขอแจ้งให้หน่วยงานราชการและ สหกรณ์ภาคการเกษตรให้ทราบว่า หากพบบุคคลหรือกลุ่มคนใดมาแอบอ้าง เพื่อมาเสนอเรื่องขอวิ่งเต้นใบอนุญาตต่างๆ ในโครง การ ขอได้อย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด และหากมีหลักฐานที่ชัดเจนในการเข้ามาหลอกลวง ขอให้ดำเนินการแจ้งความเพื่อเอาผิดทันที ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ นับจากนี้ ทาง กกพ.จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป และคาดว่าจะประกาศการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการได้ในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการนั้น กำลังได้รับความสนใจจากหลายกลุ่ม ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้น จึงถูกจับตาจากหลายฝ่ายว่า การปล่อยข่าวต่างๆ ออกมาเป็นระยะนั้น มีจุดมุ่งหมายอะไร และจริงหรือไม่มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องว่า กลุ่มคนมีสีมีเอี่ยวกับโครงการนี้ งานนี้คงต้องรอลุ้นวันเปิดรับสมัครโครงการว่าจริงเท็จแค่ไหน.
บรรยายใต้ภาพ
ทวารัฐ สูตุบุตร
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์
[sc:720x90yengo]