เก็บตกรายงานการศึกษาสปท.พลังงาน เสนอภาครัฐ เร่งส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากขยะแทนโซลาร์เซลล์

เก็บตกประเด็นฝากของ สปท.ด้านพลังงาน หลังหมดวาระการทำงาน เสนอ จัดลำดับการส่งเสริมพลังงานทดแทนใหม่ เน้นเรียงจาก ขยะ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์และลม แทนที่จะให้ความสำคัญกับแสงอาทิตย์เป็นอันดับแรก หลังศึกษาพบว่ากระทรวงพลังงานขาดปัจจัยการพิจารณาราคาต้นทุนและผลประโยชน์การผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ในทุกด้าน
 
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานถึงผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เรื่อง“การกำหนดสัดส่วนพลังงานทดแทนแต่ละประเภทเพื่อการผลิตไฟฟ้าอย่างมั่นคงและต้นทุนที่เหมาะสม”  ซึ่งเป็น1ใน17เรื่องที่เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปเมื่อช่วงปลายเดือนก.ค. 2560 ที่ผ่านมา  ว่าผลการศึกษาดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจต่อการปรับปรุงนโยบายการส่งเสริมเรื่องของพลังงานทดแทน โดย สปท.ด้านพลังงานนำเสนอว่า  รัฐควรจะมีการจัดลำดับการส่งเสริมพลังงานทดแทนใหม่ โดยควรสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าขยะเป็นอันดับแรก ให้มีปริมาณสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาจึงค่อยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ตามลำดับ
20151008154112_60907
 
ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าว เป็นการพิจารณาจากปัจจัย 5 ด้าน คือ1.ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย พิจารณาจากค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตและบำรุงรักษา 2.ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการผลิตไฟฟ้าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวรวมถึงต้นทุนการปรับปรุงและเชื่อมต่อเข้าระบบส่งไฟฟ้าหลัก 3.ต้นทุนด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน 4. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชุมชนหรือประเทศจะได้รับ และ 5. ความเชื่อถือได้และความมั่นคงของการผลิตไฟฟ้า
 
ในขณะที่การส่งเสริมพลังงานทดแทนในมุมของกระทรวงพลังงานนั้นรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า มีการพิจารณาจากการจัดลำดับเทคโนโลยีเรียงตามราคาต้นทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่างๆ  ,ความสามารถของสายส่ง, ผลประโยชน์เชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม และการจัดสรรการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเชิงพื้นที่ ทั้งนี้สปท.ด้านพลังงาน เห็นว่ายังขาดการพิจารณาราคาต้นทุนและผลประโยชน์สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ในทุกๆ ด้าน
 
รายงานผลการศึกษา ยังระบุถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากกระทรวงพลังงานมีการดำเนินการตามข้อเสนอ ของสปท.ด้านพลังงาน ใน3 ด้านคือ 1.ลำดับความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนแต่ละประเภท ซึ่งได้คำนึงถึงราคาต้นทุนและผลประโยชน์ของประเทศ สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทต่างๆในทุกๆด้าน 2.ตอบสนองนโยบายรัฐในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้คำนึงถึงต้นทุนพลังงานที่มีความเหมาะสม ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว และ 3.สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับพันธสัญญาลดโลกร้อนที่รัฐบาลไปลงนามไว้ที่ประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. 2558 ( COP 21 ปารีส)
1
 
สำหรับแผนการส่งเสริมพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน หรือแผนAEDP 2015 นั้นกำหนดเป้าหมายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน 20% ของปริมาณความต้องการไฟฟ้าทั้งหมด โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนที่มากไปน้อย ดังนี้
 
1.แสงอาทิตย์ เป้าหมายการส่งเสริมถึงปี 2579 จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 มีไฟฟ้าเข้าระบบรวม 2,977 เมกะวัตต์  
 
2.ชีวมวล เป้าหมายส่งเสริมถึงปี 2579 จำนวน 5,570 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 มีไฟฟ้าเข้าระบบรวม 2,620 เมกะวัตต์
 
3.ลม เป้าหมายส่งเสริมถึงปี 2579 จำนวน 3,002 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 มีไฟฟ้าเข้าระบบรวม 489 เมกะวัตต์
 
4.ก๊าซชีวภาพ เป้าหมายส่งเสริมถึงปี 2579 จำนวน 1,280 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 มีไฟฟ้าเข้าระบบรวม 346 เมกะวัตต์
 
5.ขยะ เป้าหมายส่งเสริมถึงปี 2579 จำนวน 550 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 มีไฟฟ้าเข้าระบบรวม 151 เมกะวัตต์
 
และ6.พลังงานน้ำขนาดใหญ่ เป้าหมายส่งเสริมถึงปี 2579 จำนวน 2,906 เมกะวัตต์ โดยปี 2559 ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าระบบ
ที่มา : 
http://energynewscenter.com/index.php/news/detail/883
 
3409 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 3 ผู้เยี่ยมชมวันนี้