นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
กรมโรงงานฯปลื้มยอดปล่อยรง.4 คาดทั้งปีทะลักเกิน 5 พันโรงงาน เงินลงทุนพุ่งกว่า 5 แสนล้านบาท ชี้แนวโน้มปีหน้า ได้อานิสงส์จากโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประกาศรับซื้อเพิ่ม 800 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ยอดขอตั้งโรงงานใหม่โต 5-10 % เงินลงทุนขยับที่ 6 แสนล้านบาท ส่วนการแก้ปัญหาลักลอบทิ้งกาก หลังจี้ก้น 5 พันราย 11 เดือนมียอดเข้าสู่ระบบกำจัดแล้วเกือบ 1 ล้านตัน
นายพสุ โลหารชุน อธิบดี กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลของผู้ประกอบการที่เข้ามายื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการในปี 2557 นี้ คาดว่าจะมีโรงงานเข้ามายื่นขอรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 พันโรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ และมีการวางโรดแมป ส่งผลให้สถานการณ์การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับกรอ.ได้มีการปรับลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือรง. 4 ลงมาเหลือ 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยมีผู้เข้ามายื่นคำขอ 379 โรงงาน มีเพียง 7 โรงงานเท่านั้น ที่การพิจารณาเกินระยะเวลากำหนด เนื่องจากติดขั้นตอนการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และบางโรงงานมีการหารือข้อกฎหมายที่ยังติดค้างอยู่ โดยขณะนี้มีเรื่องที่รอการพิจารณาอยู่ 12 โรงงาน เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขนาด 2-8 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาต มีเงินลงทุนรวมราว 3-4 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถให้อนุญาตได้ตามระยะเวลาที่กำหนดได้ ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มนิ่งนี้เอง กรอ.คาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีผู้มายื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการเพิ่มมากขึ้นจากปีนี้ 5-10 % โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศรับซื้อเพิ่มขึ้นอีก 800 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นโรงงานไม่ต่ำกว่า 170 แห่งที่จะต้องมายื่นขอประกอบกิจการเพิ่ม ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในส่วนของราชการและสหกรณ์การเกษตรอีก 800 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นโรงงานประมาณ 160 แห่ง ซึ่งยังต้องใช้เงินลงทุนอีก 4-5 หมื่นล้านบาทอีกด้วย และจะส่งผลให้ยอดมูลค่าการลงทุนของปีหน้าขึ้นไปสู่ระดับ 6 แสนล้านบาทได้
นายพสุ กล่าวอีกว่า ส่วนในช่วง 11 เดือน(มกราคม-พฤศจิกายน) ที่ผ่านมาพบว่า มียอดขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการรวม 4.972 พันโรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 4.894 แสนล้านบาท แบ่งเป็นประกอบกิจการใหม่ 4.252 โรงงาน มูลค่าลงทุน 3.255 แสนล้านบาท และขยายกิจการเพิ่มขึ้น 720 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 1.937 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มียอดขอประกอบกิจการใหม่สูงสุด ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งซ่อมแซมยานพาหนะ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องเรือน ตกแต่งภายใน ขณะที่ยอดขยายกิจการมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร พลาสติก และผลิตภัณฑ์จากพืช
สำหรับยอดการยกเลิกกิจการในช่วง 11 เดือน มีทั้งสิ้น 1.436 พันแห่ง คิดเป็นเงินลงทุน 2.978 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนปิดกิจการไปที่ 1.34 พันแห่ง เงินลงทุน 2.732 หมื่นล้านบาท
ส่วนการแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนั้น ภายหลังที่ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการทั่วประเทศกว่า 5 พันราย เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนโดยภาพรวมทั้ง 11 เดือน(มกราคม-พฤศจิกายน) มีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบแล้ว 9.11 แสนตันซึ่งในช่วงวันที่ 1-9 ธันวาคม ที่ผ่านมากากอุตสาหกรรมอันตรายได้เข้าระบบถึง 9.1 หมื่นตัน โดยคาดว่าเมื่อสิ้นเดือนธันวาคมนี้ จะมีกากเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 แสนตัน และเมื่อรวมทั้งปีจะมีกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบสะสมถึง 1.2 ล้านตัน
แนะนำข่าว : มิสเตอร์โซล่าเซลล์
ที่มา : นสพ.ฐานเศรษฐกิจ
[sc:720x90yengo]