กกพ. กำหนดหลักการปฏิบัติ (CoP) เพื่อกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

123


คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จัดทำประมวลหลักการปฏิบัติ(Code of Practice: CoP)* สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตโวลเทอิกขึ้น จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบกิจการที่เข้าข่ายต้องได้รับใบอนุญาต ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง ตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ (kVA) ขึ้นไป และผู้ประกอบกิจการที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 1,000 kVA โดย CoP ทั้ง 2 ฉบับได้เน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยตั้งแต่การออกแบบติดตั้ง และการกำจัดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน ตลอดจนกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ปฏิบัติตามมาตรการได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงการออกประมวลหลักการปฏิบัติ หรือ CoP จำนวน 2 ฉบับ ว่า เป็นการดำเนินงานโดยพิจารณาถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กกพ. ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้มาพิจารณาทบทวน และปรับปรุงให้มาตรการมีความสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในภาคนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรฐานและความปลอดภัยในการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์

 

สำหรับสาระสำคัญของ CoP ทั้ง 2 ฉบับ กกพ. ได้เน้นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการออกแบบติดตั้งตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ และมาตรการด้านการจัดการขยะและกากของเสีย คือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ชำรุดหรือหมดอายุการใช้งาน โดยสามารถส่งกำจัดได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล การเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะ หรือ การส่งไปกำจัดกับหน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายแล้วแต่กรณี เป็นต้น แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบกิจการ Solar Farm ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งตั้งแต่ 1,000 kVA หรือ 1 เมกะวัตต์ (MW) ขึ้นไป กกพ. จะมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมของโครงการ โดยสามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th

“จากการที่ กกพ. ได้กำหนดมาตรการใน CoP ดังกล่าว ช่วยให้ กกพ. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ใบอนุญาต และมีมาตรการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โดยเน้นความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจกับชุมชน และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดข้อวิตกกังวลและคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ อีกทั้งเป็นกลไกที่ช่วยให้โครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการใน CoP มีการพัฒนาโครงการไปในแนวทางเดียวกับหลักเกณฑ์การประเมินโครงการ CDM โดยไม่สร้างภาระอันเกินควรให้แก่ผู้ประกอบกิจการพลังงานตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน” นายวีระพล กล่าว

————————————————————————————————————–

* 1. ประกาศ กกพ. เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตวอลเทอิก ที่เข้าข่ายต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557

2. ประกาศ กกพ. เรื่อง มาตรการด้านการออกแบบติดตั้งและการจัดการขยะและกากของเสีย สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากเทคโนโลยีแผงโฟโตวอลเทอิก ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557

เกี่ยวกับ กกพ.
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ฝ่ายใบอนุญาต สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
โทรศัพท์  0-2207-3599
โทรสาร  0-2207-3502

www.erc.or.th

ข่าว : มิสเตอร์โซล่าเซลล์

[sc:720x90yengo]

3618 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 3 ผู้เยี่ยมชมวันนี้