ราคาน้ำมันที่ลดลงจะกระทบการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนหรือไม่?

10952270_1608759846011716_7495638523760638607_o

ตามหลักการเมื่อราคาของแหล่งพลังงานหนึ่งตกลง การหันไปใช้พลังงานทางเลือกมักจะได้รับความสนใจน้อยลงไปด้วย เช่น ในช่วงปี 2513-2523 เมื่อราคาน้ำมัน พุ่งสูงขึ้นประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ของสหรัฐฯ สั่งให้มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาทำเนียบขาว แต่มาในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เมื่อราคาน้ำมันตกลง เรแกนได้สั่งรื้อแผงพลังงานแสงอาทิตย์ออก

อย่างไรก็ดี บรรณาธิการวิทยาศาสตร์ของบีบีซี เดวิด ชุกแมน เห็นว่า ภูมิทัศน์ของตลาดพลังงานโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว น้ำมันไม่ได้เป็นแหล่งพลังงานที่แข่งขันกับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์อีกต่อไป เนื่องจากแหล่งพลังงานทั้งสองมีบทบาทที่แตกต่างกันในอุตสาหกรรมพลังงาน กล่าวคือในขณะที่น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานหลักของภาคการขนส่ง พลังงานหมุนเวียนได้กลายเป็นแหล่งพลังงานหลักของอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า

ด้วยเหตุนี้เองในภาพรวมราคาน้ำมันจึงไม่กระทบราคาพลังงานหมุนเวียนอีกต่อไป

บรรณาธิการชุกแมน แจกแจงปัจจัยที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ดังนี้

ปัจจัยแรก การพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานหมุนเวียนและการขยายฐานการผลิตตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา ทำให้พลังงานหมุนเวียนมีราคาถูกลง 
กรรมวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความต้องการที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดเป็นปัจจัยทำให้ราคาของพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในตลาดถูกลงและเป็นตัวผลักดันให้มีการขยายฐานการผลิตพลังงานดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายรัฐที่มุ่งสนับสนุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันใกล้ ทั้งจีน อังกฤษและสหรัฐฯ มีแผนการเป็นรูปธรรมในการผลักดันให้เกิดการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน

อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบที่คุกคามอนาคตที่สดใสของพลังงานหมุนเวียนคือ การหันมาใช้พลังงานจากก๊าซถ่านหินดินดานในสหรัฐฯ ซึ่งทำลายเสถียรภาพของราคาแก๊สอย่างเห็นได้ชัด และจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปที่พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ หากไม่ได้รับการแทรกแซงจากรัฐบาล

นอกจากนี้ เมื่อราคาน้ำมันดิบลดต่ำลง ราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากวัสดุชีวภาพซึ่งใช้กันทั่วไปในยุโรปจึงดูแพงขึ้นทันที

อาจกล่าวได้ว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมพลังงานในภาพรวมคือ ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งไม่มีใครทราบว่า จะยังคงตัวต่ำลงเช่นนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร ความไม่แน่นอนดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในวงการพลังงานทดแทนบอกว่า เป็นเหตุผลหลักที่ควรจะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งระบบ เนื่องจากมีเสถียรภาพทางราคาที่ดีกว่า

1941322_1608759902678377_8226795188393189175_o

การประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสในปลายปีนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชะตาของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต เนื่องจากจะเป็นเวทีที่ 190 ประเทศทั่วโลกจะมาทำการตกลงกันเรื่องมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจกและมาตรการลดการใช้พลังงานจากซากดึกดำบรรพ์หรือพลังงานคาร์บอน แต่คำถามคือ การลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทำให้ความพยายามในการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง อ่อนแรงลงหรือไม่ เช่นเดียวกับการที่ปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2551 ในยุโรปที่ได้ทำให้รอบการเจรจาที่โคเปนเฮเกนเมื่อปี พ.ศ. 2552 ต้องล้มเหลวลง

1978436_1608759696011731_4670644435289982830_o

10904490_1608759929345041_3038420581247266981_o

ที่มา : บีบีซี ไทย
[sc:720x90yengo]

1655 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้