อบต.ยุคใหม่!สร้าง-ซ่อม’โซล่าเซลล์’ใช้เอง

อบต.ยุคใหม่! สร้าง-ซ่อมอุปกรณ์’โซล่าเซลล์’ใช้เอง รับความรู้
จากคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร

kddbkb7hk79kba9ia5c9a

              โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดย สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร จัดอบรมเรื่องการนำพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์และกังหันลมมาใช้ในชุมชน ซึ่งเป็นการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการและการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar cell) มีผู้เข้าร่วมคือ เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายช่าง และนักบริหารจากองค์การบริหารส่วนตำบลและองค์การบริหารส่วนเทศบาลในจังหวัดสกลนคร อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลวานรนิวาส เทศบาลตำบลนาแก้ว องค์การบริหารส่วนตำบลตาลโกน สำนักงานเทศบาลตำบลหนองลาด องค์การบริหารส่วนตำบลคอนสวรรค์ องค์การบริหารส่วนตำบลเดื่อศรีคันไชย และสำนักงานเทศบาลตำบลนาใน
 
              ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร  (ในสมัยนั้น) กล่าวว่าการอบรมในวันนี้ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการที่ให้ความรู้เรื่องการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน พลังงานเหล่านี้จะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะการประดิษฐ์อุปกรณ์โซล่าเซลล์เป็นเทคโนโลยีที่เราสามารถสร้างขึ้นได้เอง สามารถดูแลและซ่อมแซมเองได้ ที่สำคัญพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมคือพลังงานที่ไม่มีการแก่งแย่งกัน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดและเป็นพลังงานที่ดีและมองเห็นอนาคตมากที่สุด

              อาจารย์เอกวิทย์ หายักวงษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการวางนโยบายด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ภายในปี พ.ศ. 2565 ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแนวโน้มการใช้พลังทดแทนของประเทศไทยที่ใช้งานได้ดีที่สุดคือพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะภาคอีสานเพราะมีความเข้มของแสงแดดสูง เหมาะแก่การนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ส่วนพลังงานลมจากกังหันลมจะเป็นส่วนเสริม เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคอีสานจะมีสภาพของลมตามฤดูกาลไม่ได้มีลมตลอดเวลาเหมือนชายฝั่งทะเล ฉะนั้นภาคใต้ซึ่งมีศักยภาพพลังงานลมมากกว่าจึงเหมาะแก่การใช้กังหันลมมากกว่าภาคอีสาน

             ในวันนี้เราแนะนำให้รู้จักแนวคิด ทฤษฏีเบื้องต้น ลักษณะการทำงานของโซล่าเซลล์ การเลือกใช้งานให้เหมาะสม และให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ลงมือปฏิบัติ ทดลองสร้างวงจรควบคุมหลอดไฟ LED ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำกลับไปสร้างไฟกระพริบ ไฟแจ้งเตือน หรือไฟจราจรตามแยกต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในชุมชน การให้ความรู้กับกลุ่ม อบต. และ อปท.ในครั้งนี้ อยากให้เป็นสะพานที่จะนำความรู้จากนักวิชาการไปสู่ชาวบ้านหรือคนในชุมชน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นตัวเชื่อมที่ดีในการนำความรู้ไปถ่ายทอดและสามารถทำงานประสานต่อและนำความรู้ไปใช้ได้จริง

              จ่าสิบเอกศุภกฤต โทษาธรรม เจ้าพนักงานธุรการกองช่าง เทศบาลตำบลนาแก้ว อ.นาแก้ว จ.สกลนคร ผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า ผมมีความสนใจทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์อยู่แล้ว เพราะที่ชุมชนมีราษฎรที่นำแผงโซล่าร์เซลล์ไปติดตามท้องไร่ท้องนา เมื่อเวลาผ่านไป อายุการใช้งานเริ่มหมด อุปกรณ์ต่างๆ เริ่มเสียแต่ก็ไม่สามารถซ่อมแซมเองได้ จึงมาเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ครับ

              ทางเทศบาลได้มีการประชุมร่วมกันว่าเราจะฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเริ่มต้นจากการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ในส่วนภาคการเกษตรของ อบต.นาแก้ว โอกาสที่ไฟฟ้าแรงต่ำที่จะเข้าไปสู่ภาคเกษตรยังเป็นอนาคตที่ไกล เพราะต้องใช้งบประมาณสูง เราต้องหันมาพึ่งพาตนเองให้มีไฟฟ้าใช้เองและดูแลกันเองครับ

              ด้านรองศาสตราจารย์.ดร.ธนานันต์ กุลไพบุตร คณบดีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร (ในสมัยนั้น)  กล่าวว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยของเราได้มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการเก็บพลังงานเพื่อใช้กับไฟส่องสว่างในเวลากลางคืนทั่วมหาวิทยาลัย เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและสนับสนุนการใช้พลังงานจากธรรมชาติ อนึ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ยังมีข้อจำกัดที่สามารถใช้งานโดยตรงได้เพียงในเวลากลางวัน แต่ก็มีข้อดีคือ ไม่มีมลภาวะทางเสียง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษจากขบวนการผลิตไฟฟ้า สามารถนำมาติดตั้งใช้งานได้ด้วยตนเองและผลิตไฟฟ้าได้แม้มีแสงแดดอ่อนหรือมีเมฆ และมีการบำรุงรักษาน้อยมาก อีกทั้งยังเป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้มาฟรีและมีไม่สิ้นสุดมาประยุกต์ใช้งานในชุมชนได้อีกด้วย สุดท้ายเมื่อมหาลัยวิทยาลัยมาตั้งอยู่ในชุมชนแห่งนี้ คนในชุมชนย่อมคาดหวังจากมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงการผลิตบัณฑิต แต่เราตอบแทนท้องถิ่นด้วย เพราะมหาวิทยาลัยจะอยู่ไม่ได้ถ้าคนในพื้นที่ไม่ให้การสนับสนุน
ที่มา : komchadluek.net

2474 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 2 ผู้เยี่ยมชมวันนี้