เนื่องจากในช่วงนี้พลังงานแสงอาทิตย์ จากโซล่าร์เซลล์กำลังมาแรง โดยเฉพาะ Solar Roof Top หรือ โซล่าร์เซลล์บนหลังคาบ้าน แต่หลายๆ คนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์ ดังนั้นในฐานะที่ผมอยู่ในวงการนี้ และรู้เรื่องเหล่านี้บ้าง จึงอยากจะเรียบเรียง และถ่ายทอดออกมาให้ครบที่สุดครับ มี 10 ข้อที่ประชาชนควรรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับ “โซล่าร์เซลล์หลังคาบ้าน” เนื้อหายาวจึงขอแบ่งเป็น 1 โพสกับ 9 คอมเมนต์นะครับ ^^
บทความต่อไปทางผมเขียนมาจากประสบการณ์โดยตรง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ส่วนไหนดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็จะไม่กั๊ก ถ้ามีคำแนะนำใดๆ เพิ่มเติม ยินดีแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นทุกท่าน คอมเมนต์มาได้เลยครับผม ^_^
1. ติดแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?
การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้น มีมานานหลายปีแล้ว แต่ที่เริ่มแพร่หลายจริงๆ จังๆ ก็ไม่เกิน 5-7 ปี โดยเติบโตขึ้นมากกว่า 320% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทรนดังกล่าวชี้วัดได้ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ติดเพื่อคุยโม้โอ้อวด แต่ติดเพื่อประโยชน์จริงๆ วัดจากประสบการณ์การติดตั้งใน 5 ปีที่ผ่านมา ผมขอสรุปประโยชน์ของการติดแผงโซล่าร์เซลล์ดังนี้ครับ
>>>ติดตั้งเพื่อขายไฟให้การไฟฟ้า
คือการแปลงสภาพหลังคาบ้านอันว่างเปล่าของเรา ไปเป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก และขายคืนให้กับการไฟฟ้าเลย ย้ำนะครับว่า “ไม่เกี่ยวกับการใช้ไฟในบ้านเราเลย”
หลายคนสงสัยว่า แล้วการไฟฟ้าจะรับคืนไฟฟ้าได้อย่างไร คำตอบคือ “รับไฟมาทางไหน ก็จ่ายไฟคืนไปทางนั้น” แหล่ะครับ แหะๆ พูดง่ายๆ คือ กระแสไฟฟ้ามันไหลได้สองทางนั่นเอง ครับผม แต่อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าจะไม่อนุญาติให้จ่ายไฟย้อนมิเตอร์เดิมของบ้าน (ถึงทำได้ก็ผิดกฎหมาย เข้าใจตรงกันนะครับ ^^)
ดังนั้น เมื่อติดแผงโซล่าร์เซลล์แล้ว จะต้องมี “มิเตอร์ขายไฟ” เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัว ครับ เพื่อรับไฟจากบ้านเราคืนกลับไปยังการไฟฟ้า สรุปบ้านเราจะมีทั้ง “มิเตอร์ขายไฟ” และ “มิเตอร์ซื้อไฟ”(มิเตอร์เดิม) เรียกได้ว่า “ซื้อส่วนซื้อ ขายส่วนขาย” มิเตอร์ขายไฟหน้าตาประมาณด้านล่างนี้ครับ
รูปที่ 1 มิเตอร์ขายไฟ โซล่ารูฟท็อป
การขายไฟให้การไฟฟ้า โดยการติดแผงโซล่าร์ นั้น มีสองหน่วยงานที่รับซื้อ คือ
(1) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สำหรับคนอยู่ต่างจังหวัด และ
(2) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) สำหรับในกรุงเทพและปริมณฑล
รูปที่ 2 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครหลวง
สาเหตุที่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากประชาชน เพื่อลดภาระในการผลิตกระแสไฟฟ้า แทนที่จะไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาจะดีกว่าครับ เรียกได้ว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” เพื่อให้ประเทศเรามีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง
ทีนี้มาดูกันว่า เงื่อนไข ที่แต่ละบ้านจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นของตัวเอง มี 4 ข้อคือ
– การไฟฟ้ายอมให้ผลิตได้ไม่เกิน 10kW ต่อหลังคาเรือน และมีโควต้าต่อชุมชนด้วย ซึ่งต้องปรึกษาการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในชุมชนของท่าน
– มิเตอร์ไฟฟ้าต้องเป็น ประเภทที่ 1 (เพื่ออยู่อาศัย) เท่านั้น วิธีการสังเกตว่า บ้านเราเป็นมิเตอร์ประเภทที่ 1 หรือไม่ ให้ดูจากบิลค่าไฟ ที่เราได้รับทุกเดือน ดังรูปครับ
– จะต้องมีหลังคาบ้าน หรือโครงหลังคาบ้านที่พร้อมให้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์
– จะต้องขออนุญาติกับการไฟฟ้าใกล้บ้านท่าน ภายใน มิถุนายน 2558 และจะต้องเริ่มขายไฟเข้าระบบ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
รูปที่ 3 บิลค่าไฟประเภทที่ 1
ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อขายไฟ เป็นทางเลือกที่ “เกิดให้ประโยชน์ทางการเงินสูงสุด” เพราะการไฟฟ้ารับซื้อไฟในอัตราที่แพงกว่า ค่าไฟปกติที่เราจ่ายกันยังไงล่ะครับ
พูดง่ายๆ ก็คือ การไฟฟ้าขายไฟให้เราที่หน่วยละ 3-4 บาท (update พ.ค.2558) แต่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากเราในอัตราหน่วยละ 6.85 บาท ดังนั้นเราจึงไม่ควรติดตั้งแผงโซล่าร์เพื่อใช้ไฟในบ้านแต่เพียงอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสขายได้ เน้นขายเถอะครับ คุ้มกว่ากันเยอะ
ประเทศไทยเคยมีโครงการรับซื้อไฟจากประชาชนมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกการไฟฟ้าให้ที่ราคา 6.96 บาท ส่วนครั้งล่าสุดให้ราคาที่ 6.85 บาท แนวโน้มดูจะลดลงนะครับ
สรุปการลงทุนเพื่อขายไฟ โดยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา แล้วจ่ายไฟให้กับการไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสุด เพราะไม่ต้องมีแบตเตอรี่ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการใช้ไฟในบ้าน ทำให้เกิดการคืนทุนเร็วสุด ได้ผลตอบแทนคงที่ประมาณ 20% ตลอดระยะเวลาสัญญา 25 ปี จะรออะไรอีกล่ะครับ ^^
>>>ติดตั้งเพื่อใช้เอง
การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาติการไฟฟ้า ซึ่งหลักการคล้ายกับการติดตั้งเพื่อขายไฟเลย เพียงแต่กระแสไฟฟ้าที่ได้ จะนำมาใช้ภายในบ้าน นั่นเอง
การติดตั้งเพื่อใช้ไฟเองในบ้านสามารถแบ่งออกได้หลากหลายมากๆ เลยครับ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เท่าที่พบเจอกันบ่อยๆ มีดังนี้นะครับ
(1) ต้องการลดค่าไฟฟ้าในบ้าน โดยให้แผงโซล่าร์ช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าในตอนกลางวัน (ตอนที่มีแดด)
(2) ต้องการใช้งานตอนไม่มีไฟ หรือไฟดับ ซึ่งต้องใช้ แบตเตอรี่ เป็นตัวช่วยกักเก็บพลังงาน
(3) ต้องการใช้กับกิจกรรมที่ไม่สะดวกที่จะใช้ไฟจากการไฟฟ้า เช่น ปั้มน้ำที่อยู่นอกบ้าน บ่อน้ำ ไฟถนน ไฟริมรั้ว กล้องวงจรปิดนอกตัวอาคาร เป็นต้น
รูปที่ 4 Solar Lighting โซล่าร์เซลล์สำหรับแสงสว่าง หลอด LED
รูปที่ 5 Solar Pump โซล่าปั้ม เครื่องสูบน้ำ
รูปที่ 6 ใช้โซล่าเซลล์ ควบคู่กับพลังลม Wind turbine
รูปที่ 7 Solar Mobile แบบเคลื่อนที่ได้ เหมาะกับใช้งานนอกสถานที่
รูปที่ 8 Solar ลดค่าไฟในโรงงาน สำหรับโรงงานที่มีค่าไฟเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ ขอให้พึงระลึกไว้เสมอเลยนะครับว่า การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ จะต้อง “มีการใช้ไฟ ถึงจะคุ้ม” ครับ ตราบใดที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ แต่ถ้าเราไม่มีการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ เลย พลังงานที่ได้จะสูญเปล่า นอกจากจะมี “แบตเตอรี่” ไว้กักเก็บพลังงานครับ
แบตเตอรี่จะต้องเป็นแบบ Deep Cycle Battery เท่านั้น ถึงจะเหมาะสมกับการเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพราะความสามารถในการจ่ายประจุได้ลึก สูงสุดถึง 75% ของความจุแบตเตอรี่ (มันถึงเรียกว่า Deep ไง) ทำให้ในแบตความจุเดียวกัน แบตเตอรี่แบบนี้จ่ายไฟได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาสูง และไม่เหมาะกับการ ใช้ เปิด-ปิดโหลดบ่อยๆ เช่นการสตาร์ทรถยนต์ เพราะแบตเตอรี่ชนิดนี้ มีความสามารถในการทน trigger charge ต่ำ
ล่าสุด (2558) บริษัท Tesla ผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง ที่มีคุณสมบัติสำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีจุดเด่นคือสามารถชาร์จไฟอ่อน เข้าแบตเตอรี่ได้ตลอดเวลา แต่ราคาค่อนข้างสูงอยู่
ถ้าต้องการใช้ไฟเฉพาะเวลาที่มีแดด ไม่ต้องมีแบตเตอรี่ แต่ถ้าต้องการใช้ไฟเวลาที่ไม่มีแดดด้วย จะต้องมี แบตเตอรี่ ด้วยครับ ซึ่งเรื่องแบตเตอรี่ เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันยาวๆ ไว้คราวหน้าละกันครับ ^^
ทีนี้เมื่อมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นมาดังกล่าว จึงทำให้การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ไฟเองโดยตรง จะคุ้มค่าน้อยกว่าการขายไฟให้กับการไฟฟ้า
แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่น่าลงทุนนะครับ ตรงกันข้าม มันมีแนวโน้มจะคุ้มค่าไปเรื่อยๆ เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี และถือเป็นพลังงานสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกอย่าง ถ้าเราติดตั้งเพื่อใช้ไฟไปแล้ว ในอนาคตเราอาจจะสามารถขายไฟให้การไฟฟ้าได้ ถ้ารัฐบาลเปิดสิทธิ์รอบใหม่ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะได้ยินแว่ว ๆ ว่าจะมีการเปิดเสรีโซล่ารูฟท้อปส์ ซึ่งร่างกฎหมายนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาครับ (หวังว่าจะไม่ทะเลาะกันนานเกินไปนะครับ รีบออกมาเสียที ฮาๆ)
และยิ่งถ้าคุณใช้ไฟในเวลากลางวัน จำนวนมากๆ และสม่ำเสมอแล้วล่ะก็ การติดแผงโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าไม่น้อย ยิ่งตอนนี้ มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 6-8%) ทำให้เราไม่ต้องลงทุนเงินก้อนโตมาก เพียงแต่แบ่งกำไรจากการประหยัดค่าไฟให้กับผู้ปล่อยสินเชื่อเท่านั้นเอง
2. ความรู้พื้นฐานสำหรับโซล่าร์เซลล์ ?
ในฐานะที่ทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้ามา 15 ปี ผมทราบดีครับว่าคนส่วนใหญ่มักจะส่ายหน้ากับการอธิบายในเชิงเทคนิก และมีศัพท์วิชาการมากมาย เช่น กระแสไฟ แรงดัน กำลังไฟ อะไรต่อมิอะไร เอาเป็นว่าผมขอทิ้งรายละเอียดเชิงเทคนิกไปทั้งหมดก่อน เรามาเน้นอธิบายให้ชาวบ้านฟังดีกว่าเนอะ (ถ้าอยากได้ข้อมูลเชิงเทคนิก ผมกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์ เดี๋ยวถ้าเขียนเสร็จจะมาแชร์ให้อ่านนะครับ ^^)
ระบบไฟฟ้ากล่าวโดยสรุปแบบง่ายๆ มันประกอบด้วย ผู้ผลิตไฟ และผู้ใช้ไฟ
ผู้ผลิตไฟสามารถมีได้หลายคน โดยแต่ละคนจะช่วยกันผลิตไฟแล้วจ่ายมายังที่เดียวกัน เป็นโครงข่ายของระบบจัดจำหน่าย หรือ พาวเวอร์ กริด (Power Grid) ที่เรามักจะเรียกสั้นๆ ว่า Grid (ไม่ต้องสนใจมาก จำชื่อไว้ก็พอ ^^) เงื่อนไขของผู้ผลิตไฟก็คือ จะต้องผลิตไฟให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ในทางไฟฟ้า มันคือ แรงดัน(V) และความถี่(Hz) ผู้ผลิตไฟจะต้องผลิตไฟให้ค่าสองตัวนี้ ให้ตรงกันเสมอ ถึงจะร่วม Grid กันได้ สำหรับประเทศไทย แรงดัน และความถี่ของ Grid คือ 220โวลต์-V 50เฮิร์ต-Hz (สำหรับไฟ 1 เฟส)
ทำไมต้องเป็น แรงดัน 220V ความถี่ 50Hz เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเราต้องใช้แรงดัน และความถี่เท่านี้ไงล่ะครับ แต่ยังไงก็ดี เริ่มมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รับไฟจากโซล่าร์เซลล์ได้โดยตรง ไม่ต้องแปลงเป็นกระแสสลับ เริ่มมีวางจำหน่ายแล้วครับ เช่น หม้อหุงข้าว หลอดไฟ แอร์
ส่วนผู้ใช้ไฟก็พวกเราๆ ท่านๆ นี่แหล่ะครับ มีได้หลายคนแน่นอน
และเมื่อวันหนึ่งการไฟฟ้าอนุญาติให้เราผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลังคาบ้านเราได้ แสดงว่าเขายินยอมให้เราเป็น “ผู้ผลิตไฟ” นั่นเองครับ
สำหรับพระเอกเบอร์ 1 ของเรานั่นคือ แผงโซล่าเซลล์ นั่นเอง แต่คุณสมบัติทางไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าร์เซลล์ จะเป็น 12V หรือ 24V และไม่มีความถี่ เราเรียกว่าแรงดันกระแสตรง (DC) ไม่สามารถต่อเข้ากับ Grid ของการไฟฟ้าได้โดยตรง จะต้องอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า อินเวอร์เตอร์ (Inverter) นั่นเอง
พระเอกเบอร์ 2 ของเราหรือ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) จะทำหน้าที่แปลงกระแสตรง(DC) 24V 0Hz ที่ได้จากแผงโซล่าร์เซลล มาเป็นกระแสสลับ (AC) 220V 50Hz จะได้ต่อเข้ากับ Grid ของการไฟฟ้าได้นั่นเอง
สำหรับผู้ช่วยพระเอกอีกคน ของเราคือ แบตเตอรี่ (Battery) จะทำหน้าที่คู่กับตัวควบคุมการชาร์จ (Charge controller) เพื่อทำการสำรองไฟไว้ใช้งานยามที่แผงโซล่าร์ไม่ทำงาน โดยทำให้ประสิทธิภาพของระบบดียิ่งขึ้น
เพราะถ้าไม่มี แบตเตอรี่ การใช้ไฟจะขึ้นอยู่กับปริมาณโหลดที่ถูกใช้ ณ ขณะนั้นๆ เช่นถ้าเราต่อโหลดแค่ 50% ของบ้าน แต่โซล่าร์เซลล์สามารถจ่ายได้ถึง 100% ส่วนที่เหลืออีก 50% จะไม่ได้ถูกกักเก็บ ก็จะสูญเปล่าไป
แต่ถ้ามี แบตเตอรี่ ส่วนที่เหลือจากการใช้ไฟในบ้าน จะถูกจัดเก็บลง แบตเตอรี่ทั้งหมด เป็นการบริหารพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เพื่อความเข้าใจมากขึ้นในการทำงาน เมื่อมีแสงแดดมาตกกระทบแผงโซล่าร์เซลล์ จะเกิดการเปลี่ยนจากพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC Current) ผ่านตัวควบคุมการชาร์จ(Charge controller) เพื่อควบคุมว่าจะปล่อยไปใช้เท่าไหร่ และจะเหลือเก็บลงแบตเตอรี่เท่าไหร่
ส่วนที่ปล่อยไปใช้งาน จะต้องผ่านอินเวอร์เตอร์ เพื่อแปลงเป็น ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Current) ก่อนนำไปใช้งานกับโหลดต่างๆ
ในวงการไฟฟ้าจะชอบแบ่งประเภทของโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไปตามการต่อ Grid ซึ่งผมมองว่ามันไม่จำเป็นต้องรู้เท่าไหร่ แต่เพื่อให้ครบองค์ความรู้ จะขอกล่าวไว้ตรงนี้สักหน่อย
(1) Off grid หรือ Stand-Alone
คือระบบที่ใช้พลังงานจากโซล่าร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่ต่อกับแหล่งจ่ายไฟอื่นๆ เลย เป็นระบบที่มักจะทำงานควบคู่กับแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการจ่ายไฟอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้งานมากที่สุดทั่วโลก เหมาะสำหรับสถานที่ ที่มีโหลดคงที่ เช่นตู้หยอดเหรียญ ไฟถนน ไฟสวน ปั้มสูบน้ำ หรือโหลดแบบเจาะจงตามบ้าน ข้อเสียคือไม่สามารถต่อโดยตรงเข้ากับไฟเมนของบ้าน ต้องออกแบบระบบให้แน่นอนก่อน เปลี่ยนแปลงโหลดได้ยากในอนาคต
ข้อดีอย่างหนึ่งของระบบ Off grid คือสามารถทำในรูปแบบของชุดคิตสำเร็จรูปได้ง่าย (Solar Kit) ดังรูปครับ
(2) On grid หรือ Grid-tie
คือระบบที่ต่อกับการไฟฟ้าเพื่อขายไฟ ให้กับการไฟฟ้า เป็นระบบที่ลงทุนน้อยที่สุดและคุ้มค่ามากที่สุด แต่ต้องอาศัยนโยบาลของรัฐบาลช่วยผลักดัน ระบบนี้มีข้อจำกัดก็คือ การไฟฟ้าไม่สามารถรับไฟได้แบบไม่อั้น เพราะข้อจำกัดเรื่องขนาดหม้อแปลงของการไฟฟ้า ดังนั้นในอนาคตระบบนี้จะต้องหมดโควต้าอย่างแน่นอน ในประเทศไทย ตอนนี้มีนโยบายรับซื้อไฟ ซึ่งจะหมดเขตในเดือนมิถุนายน 2558 รีบๆ หน่อยนะครับ (ตอนเขียนบทความนี้ยังไม่หมดเขตครับ ^^)
(3) Grid-tie with power backup
หรือ Grid interactive system เหมือนระบบ On grid เพียงแต่มีแบตเตอรี่ เพื่อสามารถจ่ายไฟในช่วงเวลาไฟดับได้ด้วย หรือสามารถเซ็ตระบบ ให้สามารถจ่ายไฟได้ในกรณีที่มีไฟตก ไฟกระพริบ ระบบนี้จะแพงกว่า On grid ประมาณ 12-20%
(4) Grid fallback
เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟในบ้าน ไม่ได้ทำการขายไฟให้กับการไฟฟ้า แต่ต่อเข้าโดยตรงกับไฟบ้านผ่านสวิตช์ตัดต่อ สวิตช์ตัดต่อดังกล่าวเรียกว่า Automatic transfer switch มีหลักการทำงานคือ เมื่อมีแสงแดด สวิตช์ตัวนี้ จะแบ่งโหลดส่วนหนึ่งมารับไฟจากโซล่าร์เซลล์ จนเมื่อแสงแดดหมดแบตเตอรี่จะจ่ายไฟต่อจนแบตหมด หลังจากนั้นสวิตช์จะเปลี่ยนไปใช้ไฟจากการไฟฟ้าให้อัตโนมัติ โดยโหลดไม่สะดุดเลย ระบบนี้จะเป็นระบบหลักของโลกในอนาคต เมื่อการไฟฟ้าไม่รับซื้อไฟอีกต่อไป เราจึงต้องหันมาพึ่งตัวเองครับ ^_^ (ปล.หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อระบบว่า Smart hybrid แต่จริงๆ แล้วก็คือ Grid fallback และก็มีมานานแล้วด้วยครับ ระบบนี้)
ก็ครบหมดแล้วทั้ง 4 รูปแบบการใช้งานโซล่าร์เซลล์สำหรับบ้าน จะมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับ กันความสับสน
– ถ้าติดเพื่อขายไฟ ไม่ต้องสนใจโหลดว่าต้องใช้ไฟเท่าไหร่ ให้สนใจว่าจะลงทุนเท่าไหร่ มีพื้นที่หลังคาพอหรือไม่ (ซึ่งจะกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง)
– ถ้าติดเพื่อใช้ไฟเอง จะต้องมีการคำนวณโหลดที่ต้องการรับไฟจากโซล่าร์เซลล์ ให้จำนวนแผงเหมาะสมกับปริมาณโหลดที่จะใช้
3. แล้วโซล่าร์เซลล์แบบไหนเหมาะสมกับเรา ?
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอรู้แล้วล่ะครับว่าต้องการระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบไหน เดี๋ยวผมจะขอฟันธงให้ท่านอีกรอบละกัน 55 เพราะจริงๆ มันมีเพียงแค่ 2 รูปแบบเท่านั้น คือ
3.1 แบบขายไฟให้การไฟฟ้า
แบบนี้พิจารณาได้ไม่ยากเลยครับ มีแค่เงื่อนไขเดียวคือ
“ท่านต้องมีสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้า”
การที่จะได้สัญญาขายไฟกับการไฟฟ้านั้น ท่านจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร แหล่งต่อไปนี้
สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ติดตามจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ให้ดูประกาศตามลิงก์ต่อไปนี้
http://www.mea.or.th/profile/index.php?l=th&tid=3&mid=2996&pid=2995
สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ติดตามจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้ดูประกาศตามลิงก์ต่อไปนี้
https://www.pea.co.th/vspp/Pages/home.aspx
หรือติดตามข่าวสารจากบทความนี้ได้ครับ เพราะผมจะ update ข้อมูลตลอดเวลา ขอให้ดูในข้อต่อไป (ข้อที่ 4) ได้เลยครับ
และจงจำไว้เสมอนะครับ “ขายไฟ” ย่อมดีกว่า “ใช้ไฟ” เสมอ เพราะ
– ลงทุนต่ำกว่าหรือเท่ากัน เพราะไม่ต้องสำรองพลังงานในแบตเตอรี่ เท่าไหร่ก็ขายจนหมด
– ไม่ต้องบังคับให้ใช้โหลด เพราะแม้ไม่ได้ใช้ไฟเลย แต่พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังคง เกิดขึ้นตลอดเวลา ตราบใดที่แสงแดดยังไม่หมดไปจากโลก (55 ^^)
3.2 แบบใช้ไฟเอง
คือการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อนำมาใช้กับโหลดโดยตรง ไม่ได้ขายให้ใคร
แบบนี้สามารถทำได้เลย ไม่ต้องขออนุญาติการไฟฟ้า เพียงแต่ท่านต้องไม่ทำให้มิเตอร์การไฟฟ้าหมุนกลับทาง (เข้าใจตรงกันนะ ^^) การใช้ไฟเอง มีได้หลากหลาย ท่านลองพิจารณาว่าตรงกับข้อใดข้อหนึ่ง ต่อไปนี้หรือไม่ครับ
– “โรงงานที่ต้องการลดค่าไฟ”
เหมาะกับโรงงานที่มีค่าไฟตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป สำหรับโรงงานที่มีการใช้โหลดช่วงกลางวันเยอะอยู่แล้ว ถ้าใช้เงินตัวเองลงทุน จะมีการคืนทุนอยู่ประมาณ 6-7 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการดี มีกำไรต่อเนื่อง สามารถที่จะเช่าซื้อเครื่องจักร (Leasing) แทนการลงทุนเอง เท่ากับว่า “ท่านไม่ต้องควักเงินสักบาท” หรือลงทุนไม่เกิน “10%” รายละเอียดสามารถปรึกษาผู้ที่ทำธุรกิจด้านนี้ได้ครับ
อย่าลืมว่าแนวทางการลดค่าไฟ สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องใช้โซล่าร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น “เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟ”, “การลดความร้อนในคอมเพลสเซอร์”, “การเปลี่ยนหลอด LED”, “การติดฉนวนกันความร้อน”, “การติดอินเวอร์เตอร์โหลดที่มีความกระชากสูง เช่น แอร์ ปั้ม” เป็นต้น
– “ต้องการใช้ไฟเฉพาะเวลาที่มีแสงแดด”
เหมาะสำหรับคนที่รู้ตัวอยู่แล้ว ว่ายังไงจะต้องใช้ไฟช่วงกลางวัน เช่น ปั้มสูบน้ำ ที่ทำงานเฉพาะช่วงมีแดด ก็พอเพียงในการกักเก็บน้ำ คือไม่ต้องง้อไฟจากการไฟฟ้า ให้เปลืองค่าเดินสาย ประมาณนั้น
– “ต้องการใช้ไฟในจุดที่เดินสายไฟไปไม่ถึง”
เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเดินสายไฟ บางทีโหลดอาจจะอยู่ไกล เช่นในสวน ไร่นา เพราะการเดินสายไฟเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป หรือต้องการเสาไฟที่ไม่ต้องเดินสายไฟ เพื่อจ่ายโหลดกล้องวงจรปิด ไฟถนนเป็นต้น ตรงนี้ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป นะครับ
– “ต้องการใช้ไฟช่วงที่ไฟดับ”
จริงๆ แล้วถือว่าเป็นหน้าที่ของแบตเตอรี่และยูพีเอสมากกว่า เพื่อการสำรองไฟ แต่แทนที่เราจะต้องเสียค่าไฟเพื่อมาสำรองไฟ เราเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน
– “ต้องการใช้กับอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ไปมาได้บ่อย”
ถ้าใครอยากได้ รถเข็นพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องกำเนิดพลังงานแสงอาทิตย์แบบโมบาย หรือป้ายไฟแบบเคลื่อนที่ได้ ตรงจุดนี้ถือว่าตอบโจทย์พอสมควร เพราะไม่ต้องไปหาจุดต่อปลั๊กให้เสียเวลาครับ
– “ต้องการให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งจ่ายไฟ”
ในกรณี เหมือนกับว่า เท่าสามารถมีแหล่งจ่ายไฟหลายแหล่ง เช่น พลังงานลม การไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และต้องการให้ทุกแหล่งกำเนิดสามารถไปจ่ายโหลดเดียวกันได้ ระบบนี้เรียกว่า Hybrid power system ซึ่งในเมืองไทยเริ่มมีคนนำเข้ามาใช้งานแล้ว จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
4. ขายไฟให้การไฟฟ้าต้องทำอย่างไรบ้าง ?
<update 3 พฤษภาคม 2558>
สัญญาขายไฟให้กับการไฟฟ้า อัพเดตล่าสุด เป็นดังนี้
1. สัญญาซื้อขายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม และนักลงทุน โดยสามารถทำบนพื้นดิน (Solar farm) หรือติดตั้งบนหลังคา (Solar roof) ณ ตอนนี้ ปิดรับสมัครไปแล้วนะครับ (เต็มเร็วมาก) สำหรับสิทธิ์เดิมที่ขออนุญาติไปแล้ว ให้ดำเนินการก่อนจะหมดอายุสัญญานะครับ ถ้าใครอยากทำ Solar Farm / Solar Roof เพื่อประกอบกิจการ ณ ตอนนี้คงต้องให้ไปซื้อใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า (PPA) จากโครงการกำลังก่อสร้าง หรือที่สร้างเสร็จแล้ว ที่ขายไฟฟ้าให้กับ PEA หรือ MEA หลักฐานที่ต้องการคือ
– สำเนาโฉนดที่ดิน หรือ แบบแปลนโรงไฟฟ้า
– ระบุยี่ห้อ ขนาด สเป็คของแผงโซล่าร์และอินเวอเตอร์
– ทุนจดทะเบียน
– ค่าใช้จ่ายรายเดือนของโรงงาน
เนื่องจากใบ PPA เป็นสิ่งมีค่าที่ทุกคนจับจ้อง จึงมีนายหน้าที่ชอบอ้างว่ามาจากผู้ใหญ่ให้มาเสนอซื้อ เสนอขาย เยอะมาก แต่ไม่มีหลักฐานมาแสดง นอกจากเพียงลมปากเท่านั้น เพื่อเรียกรับเงิน แต่สุดท้ายก็ว่างเปล่า เสียเวลาฟรี เพราะไม่มีอยู่จริง อ้างเจ้าของไม่ขายหรือหาเจ้าของตัวจริงไม่เจอบ้างล่ะ ถ้าท่านใดต้องการซื้อจริง ต้องพิจารณากันดีๆ นะครับ
2. สัญญาซื้อขายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือน เป็นโครงการเดียวที่เปิดสิทธิ์ให้ ณ ขณะเพื่อให้ครบ 100 เมกะวัตต์ ตามโร้ดแมปของกระทรวงพลังงานที่วางไว้ โดยต้องผ่านเงื่อนไข 4 ข้อดังนี้
– การไฟฟ้ายอมให้ผลิตได้ไม่เกิน 10kW ต่อหลังคาเรือน และมีโควต้าต่อชุมชนด้วย ซึ่งต้องปรึกษาการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในชุมชนของท่าน
– มิเตอร์ไฟฟ้าต้องเป็น ประเภทที่ 1 (เพื่ออยู่อาศัย) เท่านั้น วิธีการสังเกตว่า บ้านเราเป็นมิเตอร์ประเภทที่ 1 หรือไม่ ให้ดูจากบิลค่าไฟ ที่เราได้รับทุกเดือน ดังรูปครับ
– จะต้องมีหลังคาบ้าน หรือโครงหลังคาบ้านที่พร้อมให้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์
– จะต้องขออนุญาติกับการไฟฟ้าใกล้บ้านท่าน ภายใน มิถุนายน 2558 และจะต้องเริ่มขายไฟเข้าระบบ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558
เอกสารเพื่อประกอบการยื่นมีดังต่อไปนี้ครับ
สำหรับบุคคลธรรมดา
1. สำเนาบัตรประชาชน (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร) ของผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้า
3. สำเนาบิลแจ้งค่าไฟฟ้า ของอาคารที่จะติดตั้ง หรือ หลักฐานแสดงหมายเลขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
4. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้าเป็นเจ้าของอาคารเอง
– ให้แนบหลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร )
5. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้า ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคาร
– ให้แนบหนังสือยินยอมจากเจ้าของอาคาร หรือ สัญญาเช่า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
– หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
– สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
สำหรับนิติบุคคล
1. สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัทฯ (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคล ( ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ) พร้อมวัตถุประสงค์ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต และ จำหน่ายไฟฟ้า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
3. หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นมายื่นคำขอแทน ( พร้อมลงนามรับรองเอกสาร , ประทับตรา และ ติดอากรแสตมป์ ) สำเนาบัตรประชาชน (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร) ของผู้ได้รับมอบอำนาจ
4. สำเนาใบแจ้ง ค่าไฟฟ้า ของอาคารที่จะติดตั้ง แผง Solar cell หรือ หลักฐานแสดงหมายเลขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
5. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้าเป็นเจ้าของอาคารเอง
– หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
6. สำเนา ภพ.01 หรือ ภพ. 20 ( ถ้ามี )
7. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้าเป็นเจ้าของอาคารเอง
– หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร )
8. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้า ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคาร
– หนังสือยินยอมจากเจ้าของอาคาร หรือ สัญญาเช่า
(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
– หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร
(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
– สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของอาคาร
(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
เอกสารแสดงคุณสมบัติและข้อมูลทางเทคนิคของระบบผลิตไฟฟ้า (ทางผู้รับเหมาเป็นผู้จัดเตรียม)
1. เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของแผง Solar Cell
2. เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของ Inverter
3. Data sheet ของหม้อแปลงที่ต่อกับ Inverter [ Rate Power ( MVA ) , HV / LV Rated Voltage ( kV ), Vector Group , Frequency , Maximum Short Circuit Rating ( kA ) ]
4. แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานที่ติดตั้งแผง Solar Cell
5. แผนภูมิระบบไฟฟ้า ( Single Line Diagram ) แสดงการจัดวาง และ การเชื่อมต่อของอุปกรณ์ทั้งหมดและมีวิศวกรรับรองแบบ (พร้อมแนบสำเนาใบประกอบวิชาชีพที่ยังไม่หมดอายุ )
ข้อมูลประกอบการออกแบบ และการทาแผนผังสถานที่
1. ภาพถ่ายเกี่ยวกับอาคารที่จะติดตั้ง
– ภาพด้านหน้าอาคารระบุทิศ
– ภาพด้านข้าง, ด้านหลัง
– ภาพมิเตอร์ไฟฟ้าที่ซื้อ ณ ปัจจุบัน
3. แผนผังแสดงที่ตั้งอาคาร ระบุถนนใกล้เคียง
4. พิกัดดาวเทียม GPS ( ถ้ามี )
การดำเนินการทั้งหมดให้ติดต่อผู้รับเหมาที่จะติดตั้ง ให้เป็นคนดำเนินการยื่นเอกสารให้ทั้งหมด จะสะดวกมากกว่าไปยื่นเองครับผม ^^ แต่ถ้าประสงคจะยื่นเอง ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ
5. ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ของยี่ห้อไหนดี ?
หลายคนมักมาสอบถามผมว่า แผงยี่ห้อไหนดี ในวงการมีการให้เกรดของแผงไหม คำตอบคือ “มีแบบอ้อมๆ” ครับ นั่นคือ “Bloomberg PV Module Maker Tiering System” โดยจะมีการจัดเกรดของแผงโซล่าร์เซลล์เป็น 3 ระดับ ไล่ตั้งแต่ดีสุดไปด้อยสุดได้แก่
<update 2014>
Tier-1 Solar Panel คือแผงที่สร้างจากบริษัทที่มีโรงงานของตัวเอง มีแบรนด์ของตัวเอง ไม่มีปัญหาทางการเงินในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และมีโครงการอ้างอิง 5 โครงการขึ้นไป แผงเหล่านี้ได้แก่ (อาจมีเพิ่มเติมมากกว่านี้)
- Phono Solar
- Jinko Solar
- LG Solar
- Yingli
- First Solar
- REC Solar
- Kyocera
- Renesola
- Trina
- Canadian Solar
- JA Solar
- CNPV
- Risen Energy
- ET Solar
- Solar Frontier
- Hanwha SolarOne
- Solarworld
- BYD
- SUNPOWER
- Vikram Solar
- Hanwha Q-Cells
Tier-2 Solar Panel คือแผงที่สร้างจากบริษัทที่มีโครงการอ้างอิงบ้าง โดยได้รับการสนับจากธนาคารบ้าง มีชื่อเสียงระดับหนึ่ง
Tier-3 Solar Panel คือแผงที่สร้างจากบริษัทที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่แนะนำให้ใช้อย่างยิ่ง
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของการจัดอันดับแผงของ Bloomberg ได้ที่
http://about.bnef.com/content/uploads/sites/4/2012/12/bnef_2012-12-03_PVModuleTiering.pdf
6. ติดตั้งกับหลังคาได้ทุกประเภทไหม ?
หลังคาทุกประเภทสามารถติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ได้ เพราะหลังคาเป็นส่วนที่รับแรงน้อยมาก จุดรับแรงที่แท้จริงก็คือ ตัวแปหลังคาที่อยู่ภายในมากกว่า ด้วยประสบการณ์สิ่งที่ผมตรวจสอบประจำมีดังนี้
– หลังคาอายุไม่เกิน 10 ปี มักไม่ค่อยมีปัญหา
– หลังคาที่ต้องตรวจสอบมากๆ คือแปไม้ ครับ
– เช็คโครงสร้างภายใต้หลังคาว่าอยู่ในสภาพที่ดี โครงสร้างที่แย่ จะส่งผลต่อกระเบื้องหลังคาได้ด้วย ดังรูป
หลังคาเรียงกันเป็นคลื่น ไม่สม่ำเสมอ ตัวกระเบื้องแตกเป็นรอย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าโครงสร้างที่รองรับมีปัญหาครับ
– หลังคา Metal sheet มักไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากอายุการใช้งานยังไม่เยอะ และตัวแผ่น Metal sheet ค่อนข้างเบา
– ปกติอุปกรณ์แผงโซล่าร์ที่ติดตั้งบนหลังคา จะมีโหลดประมาณ 10kg ต่อตารางเมตร เราจะต้องมาพิจารณาแปที่รองรับว่า (1) ทำด้วยวัสดุอะไร ไม้ เหล็กกล่อง รางซี เป็นต้น (2) ขนาดแปเท่าไหร่ (3) อายุการใช้งานเท่าไหร่ (4) ชนิดแผ่นมุงหลังคา และน้ำหนักต่อตารางเมตรโดยประมาณ
หลังจากนั้นต้องปรึกษา วิศวกรโครงสร้าง เพื่อดูว่า แปหลังคาสามารถรับโหลดได้เพิ่มอีก กี่ kg/m2 นั่นแหล่ะถึงจะบอกได้ว่า สามารถติดตั้งโซล่าร์เซลล์ได้หรือไม่ครับ
ถึงเวลาติดตั้งจริงแล้ว
การติดตั้งว่ากันโดยหลักการง่าย แบ่งเป็น 3 แบบ คือ
1. แบบขั้นยึดกับจุดยึดเดิมของหลังคา (สำหรับหลังคาที่มีน๊อตยึดอยู่แล้ว)
2. แบบเจาะกระเบื้องหลังคา
3. แบบสอดใต้กระเบื้อง
แบบยึดกับจุดเดิมของหลังคา เราอาศัยจุดยึดเดิม ซึ่งเป็นน็อตอยู่แล้ว ข้อดีคือไม่ต้องทำการเจาะหลังคา และง่ายในการติดตั้ง โดยมีรูปประกอบการติดตั้ง ดังตัวอย่างข้างล่างนี้ครับ
แบบเจาะกระเบื้องหลังคา ข้อดีคือมีจุดยึดที่แข็งแรง และเลือกตำแหน่งติดตั้งได้ง่าย แต่ต้องใช้กาวยิงซิลิโคนเกรด AE107
แบบสอด จะอาศัยสอดจากช่องว่างของกระเบื้องข้อดีคือไม่ต้องเจาะ หรือรื้อน็อตเดิมเลย รูปแบบการติดตั้งคร่าวๆ เป็นดังนี้ครับ
สรุปแล้วคือ
– ติดกับหลังคาได้ทุกประเภท มีทั้งแบบสอด แบบเจาะ และแบบยึดกับน็อตเดิม
– ดูโครงสร้างเป็นหลักว่ารับแรงได้หรือไม่
– ต้องตรวจสอบโดยวิศวกรโครงสร้างเท่านั้น ถึงจะแน่ใจว่าติดตั้งได้จริง
7. ควรรับประกันกี่ปี ?
ปกติผู้ผลิตจะมีมาตรฐานในการรับรองอยู่แล้ว ผมจะขอเอาการรับประกันสูงสุดในท้องตลาดละกันครับ ท่านจะได้มั่นใจว่า เวลาเจอกับผู้ขาย การรับประกันสูงสุด ในตลาดโซลาร์รูฟมันควรเป็นเท่าไหร่
การรับประกันผลงาน (System warranty)
ได้แก่ การเปลี่ยนอะไหล่ (Spare part) ค่าแรงในการแก้ไข และค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับบริการ จะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี (ถ้าเจอ 3 ปีนี่ถือว่าแจ๋วเลย)
การรับประกันสินค้า (Product warranty)
*** แผงโซล่าร์เซลล์ (PV Solar Panel) ตามมาตรฐานต้องเป็นดังนี้
> รับประกันคุณภาพสินค้า 10 ปี
> รับประกันประสิทธิภาพของแผง ตาม IEC Standard คือ
ประสิทธิภาพต้องลดลงไม่เกิน 10% ภายใน 10 ปีแรก
ประสิทธิภาพต้องลดลงไม่เกิน 20% ภายใน 20 ปีแรก
อายุการใช้งานของแผง ส่วนใหญ่จะอยู่ถึง 25 ปี ครับ
*** อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter)
> ควรมีประกันคุณภาพสินค้าเป็นเวลา 5 ปี เมื่ออยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน เปลี่ยนใหม่ทันที ไม่มีรอซ่อม
คร่าวๆ ก็น่าจะประมาณนี้ครับผม ^^
8. หลังติดตั้งแล้วอยู่ได้นานไหม ต้องบำรุงรักษาอย่างไร ?
คำถามยอดฮิตอันหนึ่งเลยว่า เราต้องบำรุงรักษาอะไรมันบ้างไหม
คำตอบคือ ต้องมีอยู่แล้วครับ แต่จะมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป
หลักการทั่วไป ที่ท่านควรจะทำหลังจากติดตั้งเสร็จนะครับ
1. ตรวจสอบเอกสารในการส่งมอบงานจากผู้รับเหมา ต้องมีให้ครบ
– Single line diagram แผนผังระบบไฟฟ้าฉบับล่าสุด
– รายละเอียดอุปกรณ์ไฟฟ้า คู่มืออุปกรณ์ ของแผงโซล่าร์ และอินเวอร์เตอร์
(ชาร์เจอร์ และแบตเตอรี่ ถ้ามี)
– รายละเอียดแบบในการติดตั้ง
2. หมั่นตรวจสอบมิเตอร์ค่าไฟว่าทำงานได้ปกติ กำลังไฟฟ้า สม่ำเสมอ กิโลวัตต์ สม่ำเสมอ โดยดูจากอินเวอร์เตอร์ได้ครับ
3. ถ้าเริ่มรู้สึกว่าประสิทธิภาพของแผงเริ่มลดลง เราควรจะเพิ่มแผงเพื่อให้กำลังไฟเท่าเดิม แต่ต้องขออนุญาติจากการไฟฟ้าก่อนนะครับ
– ถ้าบ้านเรือนทั่วๆ ไป มีฝุ่นอยู่ในระดับปกติ ก็ไม่ต้องทำอะไรกับมันมาก บ้านผมอยู่มา 7 ปีแล้ว ยังไม่ได้ขึ้นไปเช็ดฝุ่น หรืออะไรเลยครับ วิธีการตรวจสอบก็ง่ายๆ ดูที่บิลค่าไฟในแต่ละเดือนว่าเทียบเดือนเดียวกันจากปีที่แล้ว ควรจะใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ก็น่าจะลองขึ้นไปตรวจสอบ และทำความสะอาดบ้างครับ
– บางพื้นที่มีฝุ่นเยอะมาก เช่นโรงงานน้ำตาล จะมีกากละอองน้ำตาลปลิวมาเกาะ เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะจ้างคนมาทำความสะอาดหลังคาเป็นรอบๆ ไปครับ
การทำความสะอาด แนวทางที่ถูกต้อง
1. อ่านคู่มือของแผงโซล่าร์ให้ชัดเจน ถึงวิธีการทำความสะอาด
2. สำรวจว่าได้ทำการปิดวงจรไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว และสำรวจว่าไม่มีส่วนไหนของแผงแตก ชำรุด ข้อต่อของสายไฟถ้าหลวม ให้ทำการขันให้แน่น
3. หยิบกิ่งไม้ ใบไม้ ขยะที่ปลิวมา ออกจากแผง และตัดกิ่งไม้ที่บังแผงตามเหมาะสม
4. ทำความสะอาดด้วยผ้า หรือโฟมชุบน้ำอุ่น ผสมน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่กัดกร่อน สูตรน้ำยาที่แนะนำคือ
– น้ำส้มสายชู 1/4 ถ้วยตวง
– สบู่หรือผงซักฟอกที่ไม่กัด 1/2 ช้อนโต๊ะ
– น้ำอุ่น 2 ถ้วยตวง
ผสมทั้งหมดในขวดสเปรย์ ใช้ฉีดเพื่อทำความสะอาดแผงครับ
9. มีการคำนวณง่ายๆ ไหม สำหรับเพื่อขาย หรือใช้ไฟในบ้านเราเอง
ผมขอรวบรวมคำถามที่ผมเจอประจำ มาลงไว้ในตารางข้างล่างนี้เลย และผมจะอัพเดตอะไรใหม่เรื่อยๆ เพราะไม่อยากไปเขียนที่อื่น 55 เอาทีเดียวใช้งานได้ และอัพเดต ดีไหมครับ ^^
10. สรุปแล้วมันคุ้มไหม ?
ถึงตอนนี้ผมว่าทุกคนคงได้ข้อมูลที่ได้รับไปครบถ้วน และค่อนข้างละเอียด คนที่จะตอบได้ว่าคุ้มหรือไม่ คือตัวท่านเอง
ลองถามตัวเองดูว่า การลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องดูแลมาก ผลตอบแทนสูงสุด 20% ต่อปี เป็นเวลาสูงสุดที่ 25 ปี ลดการใช้พลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมัน ลดการใช้ถ่านหินที่เป็นมลภาวะของโลก
ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ท่านลองจินตนาการดูสิครับ ว่าถ้าทุกบ้านมีแผงโซลาร์เซลล์ ติดอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังทุน ประเทศเราจะเปลี่ยนไปได้มากแค่ไหน
– โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหินก็จะถูกลดความสำคัญลงไป
– น้ำมันจะนำเข้าน้อยลง
– สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น
– จะมีการจ้างงานมากขึ้นในสายงานพลังงาน
และนั้นคือวัตถุประสงค์ของบทความนี้ครับ
ที่มา :
เวบไซต์ pantip.com สมาชิกหมายเลข 2332862
วิศวกร ไฟฟ้า/เครื่องกล
ความเชี่ยวชาญ : โซล่าร์เซลล์ พลังงานสะอาด
[sc:720x90yengo]