โคมไฟพลังแสงอาทิตย์โผล่อุดร 158 ล้าน รอ ปปท.สอบ

10697179_437530233053125_8009232303968329449_o  10321159_437530503053098_3349715162410749085_o 10548809_437530766386405_5175237280629635217_o 10548809_437530839719731_1787725744902930918_o

10604469_437530813053067_9085340596669393979_o 10648261_437530713053077_3015500970042514256_o 10661646_437530789719736_5706119369985035103_o 10682168_437530689719746_6083641249007797072_o
กรมปกครองท้องถิ่นอุดหนุนให้ อปท.อุดรธานี จัดซื้อโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ อบจ.ซื้อ 995 ชุดๆละ เก้าหมื่น แต่ ทต.-อบต.ราคาถูกกว่าซื้อ 1,000 ชุดๆละหกหมื่นเก้า มีทั้งติดคู่กับเสาไฟฟ้าถึงทางไปไร่นา นายกฯและชาวบ้านพอใจ แต่ไม่ขอใช้เงินตนเองซื้อ 

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 14 กันยายน ถึงโครงการตามเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ในพื้นที่ซึ่งเป็น 1 ใน 13 จังหวัด ที่ สนง.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. ตรวจสอบตั้งข้อสังเกตมีการจัดซื้อจัดจ้างผิดปกติ จะมีเป้าหมายเดินทางมาตรวจสอบ โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจปีงบประมาณ 56 ให้ อบจ.อุดรธานี , เทศบาลตำบล และ อบต. 20 โครงการ 1,995 ชุด วงเงิน 159,473,000 บาท 

สำหรับ อบจ.อุดรธานี 10 โครงการ 995 ชุด วงเงิน 89,950,000 บาท เฉลี่ยต้นละ 90,402 บาท ประกอบด้วย 1. อ.ทุ่งฝน , พิบูลย์รักษ์ และบ้านดุง 111 ชุด 9,990,000 บาท , 2. อ.บ้านดุง 111 ชุด 9,990,000 บาท , 3 อ.กุมภวาปี และ อ.โนนสะอาด 97 ชุด 8,780,000 บาท , 4 อ.น้ำโสม 96 ชุด 8,690,000 บาท , 5 อ.โนนสะอาด 98 ชุด 8,870,000 บาท , 6 อ.บ้านผือ 96 ชุด 8,690,000 บาท , 7 ต.นากว้าง , ต.เชียงยืน , ต.หนองนาคำ อ.เมือง 96 ชุด 8,690,000 บาท , 8 ต.บ้านขาว , ต.หมูม่น ต.โนนสูง อ.เมือง 96 ชุด 8,690,000 บาท , 9 ต.บ้านจั่น ต.บ้านเลื่อม ต.กุดสระ อ.เมือง 96 ชุด 8,690,000 บาท และ 10 อ.เมือง , อ.บ้านผือ และ อ.น้ำโสม 98 ชุด 8,870,000 บาท 

ส่วน อปท.อื่นๆอีก 10 โครงการ 1,000 ชุด วงเงิน 69,523,000 บาท เฉลี่ยต้นละ 69,523 บาท ราคาต่ำกว่า อบจ.อุดรธานี ประกอบด้วย 1 เทศบาลตำบลทุ่งฝน อ.ทุ่งฝน 100 ชุด 6,950,000 บาท , 2 อบต.ทุ่งฝน อ.ทุ่งฝน 100 ชุด 6,950,000 บาท , 3 อบต.บ้านดุง อ.บ้านดุง 100 ชุด 6,950,000 บาท , 4 อบต.นาพู่ อ.เพ็ญ 100 ชุด 6,973,000 บาท , 5 เทศบาลตำบลบ้านเชียง อ.หนองหาน 100 ชุด6,950,000 บาท , 6 เทศบาลตำบลเมืองเพีย อ.กุดจับ 100 ชุด 6,950,000 บาท , 7 อบต.กุดจับ อ.กุดจับ 100 ชุด 6,950,000 บาท , 8 อบต.ตาลเลียน อ.กุดจับ 100 ชุด 6,950,000 บาท , 9 เทศบาลตำบลโนนหวาย อ.หนองวัวซอ 100 ชุด 6,950,000 บาท และ 10 อบต.หนองอ้อ อ.หนองวัวซอ 100 ชุด 6,950,000 บาท

ผู้สื่อข่าวเดินทางลงไปในพื้นที่ เทศบาลตำบลตาลเลียน อ.กุดจับ พบว่า มีการติดตั้ง โคมไฟถนนแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มีลักษณะเป็นเสาท่อเหล็ก เคลือบกัลวาไนป้องกันสนิมสูง 6 เมตร ยึดติดกับตอมอคอนกรีต , ติดตั้งแผงโซลาเซลล์ด้านบน , รองลงมาเป็นช่อไฟและหลอดไฟแบบ LED , รองลงมาด้วยกล่องควบคุม และบรรจุแบตเตอรี่ ที่ติดตั้งอยู่ถนนระหว่างหมู่บ้าน ที่ต้องผ่านพื้นที่การเกษตร นาข้าว ไร่มัน ไร่อ้อย สวนยางพารา และอื่นๆ และมีบางจุดติดตั้งในซอยตัน อาทิ ซอยริมถนน ทต.กุดจับ-บ.ดงหัน ต.สร้างก่อ 3 ชุด ซึ่งมีเสาไฟฟ้าผ่านอยู่แล้ว 

ชาวบ้านที่มีกระท่อมนาอยู่ถนน บ.โนนสำราญ ต.เมืองเพีย-บ.ดงหัน ต.สร้างก่อ และเป็นกระท่อมเพียงหลังเดียวบริเวณเสาไฟชุดนี้ กล่าวว่า เสาไฟมาติดตั้งช่วงฤดูแล้ง หน้าแล้งไม่ค่อยมาที่สวนจึงจำไม่ได้ เป็นเสาไฟทั้งหมด 4 เสา ห่างกันประมาณ 100 เมตรเศษ พอมืดหน่อยไฟก็จะติด พอช่วงเช้าก็จะดับเอง โดยแสงไฟจะเป็นแสงสีขาว ความสว่างประมาณ 1 ห้อง มองไปก็จะเห็นเป็นกลุ่มแสงสว่าง หลายหลอดก็จะเป็นแนวถนน แต่ก็สู้แสงขอรถวิ่งผ่านไม่ได้ และพอใจที่เทศบาลฯเอามาติดตั้งให้ แต่ก็ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่

นายสมเกียรติ ยอดวงศ์กอง นายก ทต.เมืองเพียง อ.กุดจับ เปิดเผยว่า เป็นโครงการที่กรมการปกครองท้องถิ่น แจ้งมาให้เราทำบันทึกความต้องการ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติถือปฏิบัติมาทุกปี และเชื่อว่าองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น ก็ได้รับแจ้งไปแจ้งเดียวกัน ทต.ตาลเลียน ก็บันทึกความต้องการไปตามนั้น กรมการปกครองท้องถิ่นก็แจ้งกลับมา ว่าได้รับงบโคมไฟถนนแบบใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่ง อปท.ใน อ.กุดจับหลายแห่งก็ได้มา 

” เรื่องโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยจัดซื้อมาก่อน กรมฯก็กำหนดสเปคมาแล้วชัดเจน ก็ดำเนินการตามระเบียบ ด้วยการไปตรวจสอบราคาในตลาด ขณะเดียวกัน จนท.จากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่มาตรวจงานตมปกติ ก็สนใจสอบถามเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่เห็นชี้แนะอะไรเพิ่มเติม โดยเทศบาลฯได้กำหนดจุดติดตั้ง บนถนนไม่มีเสาไฟฟ้าไปถึง จากหมู่บ้านมุ่งหน้ามา ทต.กุดจับ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอำเภอ หลังเปิดใช้งานชาวบ้านต่างพอใจ “

นายก ทต.เมืองเพียง อ.กุดจับ ตอบข้อซักถามว่า โคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์เป็นงบอุดหนุน เมื่อเขาให้มาเราก็ต้องเอามาให้ประชาชน ไม่เช่นนั้นประชาชนก็เสียโอกาส โดยจุดที่เราเอาไปเลือกติดตั้ง ได้ประโยชน์มากกว่า 90 เปอร์เซนต์ จะมีเพียงบางจุดใช้งานไม่เต็มที่ หากจะเปลี่ยนที่ตั้งก็ใช้งบประมาณบ้าง แต่หากเราต้องใช้งบประมาณของเราเอง ไปจัดซื้อจัดหาโคมไฟแบบนี้คงไม่ทำ เพราะเรามีงบประมาณในวงจำกัด จะต้องนำงบไปใช้ในโครงการอื่น ที่มีความจำเป็นสำคัญมากกว่านี้ 

นายสุทธินันท์ บุญมี รอง ผวจ.อุดรธานี รักษาราชการแทน ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ร้องเรียนความผิดปกติ ในการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามา หรือ สนง.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. เข้ามาตรวจสอบโครงการฯ ที่ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามา โดยเบื้องต้น หากพบว่ามีความปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง จังหวัดอาจตั้งกรรมการตรวจสอบ เบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูล แต่หากเมื่อมีการร้องเรียน หรือทาง ปปท.เข้ามาตรวจสอบ จังหวัดก็สามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ลงพื้นที่ เพื่อดำเนินการว่า มีความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง ตามที่รับการร้องเรียนหรือไม่….

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับโคมไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.อุดรธานี สภาพภายนอกมีรูปร่างใกล้เคียงกับของ ทต. และ และ อบต. แต่ขนาดมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหลอกไฟ แผงโซล่าเซล และกล่องควบคุม โดยมีตราสัญลักษณ์ อบจ.อุดรธานี ติดอยู่ใกล้ๆกับกล่องควบคุม ที่พบจะนำไปติดตั้งตามทางแยกที่ไม่มีไฟแสงสว่าง ซึ่งบางจุดก็มีเสาไฟและสายไฟฟ้าพาดผ่านอยู่แล้ว….

[sc:720x90yengo]

3428 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้