กกพ.เดินหน้ารับซื้อไฟ ระยะที่ 1 โครงการโซลาร์ฟาร์มกลุ่มราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 600 เมกะวัตต์

กพ. เดินหน้ารับซื้อไฟ ระยะที่ 1 โครงการโซลาร์ฟาร์มกลุ่มราชการและสหกรณ์การเกษตร
ย้ำกำกับอย่างมีหลักเกณฑ์ โปร่งใส เป็นธรรม มุ่งส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของประเทศ

24-09-58-01

     คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เดินหน้าออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ จากปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ ตอบรับตามนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และเพื่อการปฏิรูปด้านพลังงานของประเทศ 

          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรว่า ภายหลังที่ กกพ. ได้ออกระเบียบรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2558 และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ให้เลื่อนวันกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ของโครงการ จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2559 เป็นภายในเดือนกันยายน 2559 สำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านระบบสายส่งไฟฟ้า และภายในเดือนมิถุนายน 2561 สำหรับพื้นที่ที่เหลือ โดยขณะนี้ กกพ. ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 และนำเผยแพร่สู่สาธารณชนแล้ว

          โครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ โดยแบ่งการรับซื้อออกเป็น 2 ระยะ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการรองรับของสายส่งไฟฟ้า โดยระยะที่ 1 กกพ. ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านระบบสายส่งไฟฟ้าก่อน โดยมีเป้าหมายรับซื้อในระยะที่ 1 จำนวน 600
เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2559 สำหรับเป้าหมายการรับซื้อในระยะที่ 2 กกพ. จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ที่เหลือต่อไป โดยจะมีกำหนดวัน SCOD ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งแต่ละโครงการต้องมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ สำหรับอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการนี้มีระยะเวลา 25 ปี และจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ หากไม่มีการเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าภายในกำหนดวัน SCOD ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นอันสิ้นสุด ยกเว้นกรณีเป็นเหตุสุดวิสัยตามที่กำหนดในสัญญา

          “เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 จำนวน 600 เมกะวัตต์ กกพ. ได้แบ่งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าออกเป็น 3 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 200 เมกะวัตต์ พื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 389 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 87 เมกะวัตต์ ภาคตะวันตก 159 เมกะวัตต์ และภาคกลาง 138 เมกะวัตต์ และพื้นที่ของกิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 11 เมกะวัตต์  โดยขั้นตอนการคัดเลือก กกพ. จะพิจารณาความครบถ้วนของเอกสาร ศักยภาพระบบไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่ตั้งโครงการ ความพร้อมของเงินทุน และความพร้อมของวงเงินสินเชื่อก่อน และเมื่อได้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว กกพ. จะใช้วิธีการจับสลากเพื่อคัดเลือกว่ากลุ่มใดจะได้จับสลากก่อน โดยกลุ่มที่ได้จับสลากก่อนจะได้รับการคัดเลือกก่อน และจะพิจารณาตามเงื่อนไขศักยภาพของ Feeder” นายวีระพล กล่าว

24-09-58-02

    สำหรับการรับแบบคำขอขายไฟฟ้า ผู้ที่สนใจสามารถขอรับแบบคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ที่ www.erc.or.th หรือสามารถมารับได้ด้วยตนเอง ณ สำนักงาน กกพ. (ส่วนกลาง) หรือ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ โดยมีกำหนดยื่นแบบคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 1 – 10 พฤศจิกายน 2558 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ณ อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น G บริเวณหน้าร้านภูฟ้า และภายในวันที่ 11 ธันวาคม 2558 กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ณ สำนักงาน กกพ. และผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ.  และในส่วนของการจับสลาก กกพ. ได้กำหนดเป็นวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ระหว่างเวลา 09.00 – 15.00 น. โดยจะแจ้งสถานที่จับสลากให้ทราบภายในวันที่มายื่นแบบคำขอ หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ กกพ. จะแจ้งผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th

          “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเอาพื้นที่ของหน่วยงานราชการและที่ดินของสหกรณ์ภาคการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อีกทั้งยังเป็นการพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาวอีกด้วย โดย กกพ. จะทำหน้าที่กำกับการรับซื้อไฟฟ้าด้วยความเป็นธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้ว ห้ามมิให้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้าหรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น นอกจากได้รับความยินยอมจากการไฟฟ้าที่ได้รับความเห็นชอบจาก กกพ. แล้วเท่านั้น” นายวีระพล กล่าวเสริม

ที่มา :
ERCLogo

[sc:720x90yengo]

1880 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้