“ดุสิต” “พรายพล” จับมือค้านจัดเก็บค่าback up โซลาร์รูฟท็อป

วงเสวนา จุฬาฯ ร้อน  “ดุสิต เครืองาม “อ่านแถลงการณ์ 4 ข้อ  ค้านการเรียกเก็บค่า back up โซลาร์รูฟท็อป  ด้าน “พรายพล” ยกกรณี เยอรมัน ออสเตรเลีย หนุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง  ในขณะที่ โฆษก กกพ. ยืนยัน แนวคิดจัดเก็บเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อดูแลผลกระทบรายได้ของการไฟฟ้าที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2560 สถาบันโลกร้อนศึกษาประเทศไทย ร่วมกับหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา TGWA Advocacy ครั้งที่2 เรื่อง “ทิศทางและมายาคติ โซลาร์รูฟท็อปของประเทศไทย:มิติเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีผลิกโฉม” ที่ อาคารศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย

 ศ.ดร.ดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทยและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งประเทศไทย(สปท.) หนึ่งในวิทยากรได้อ่านแถลงการณ์ 4 ข้อ โดยมีเนื้อหาไม่เห็นด้วยกับการที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีแนวคิดที่จะจัดเก็บค่า back up สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองดังนี้
 1.สมาคมฯไม่เห็นด้วยกับมาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่า Back up  

2. เรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคนโยบาย กำกับ และภาคปฏิบัติ ช่วยเร่งเปิดโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี โดยให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ ส่วนจะคิดราคาเท่าไหร่ก็ได้ แต่อย่ากีดกันการผลิต
3.ต้องการให้การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) ปรับแก้ระบบ การแก้โครงข่ายตัดต่อไฟฟ้าอัตโนมัติ (relay เบรกเกอร์) เพื่อไม่ให้เกิดการจำกัดการซื้อและขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตโซล่าร์รูฟท็อปกับการไฟฟ้า
และ4.ขอให้ กฟน.และ PEA ทบทวนการทำธุรกิจให้บริการรับเหมาติดตั้ง ซ่อมบำรุงโซลาร์รูฟท็อปให้บ้านและอาคารพาณิชย์ โดยสมาคมฯ ไม่เห็นด้วย ที่การไฟฟ้าจะเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ซึ่งเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการไม่ให้รัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ซึ่งภาระกิจหลักของการไฟฟ้าคือให้บริการจ่ายไฟฟ้าให้ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลความมั่นคงไฟฟ้า ไม่ได้มีหน้าที่เข้ามาให้บริการดังกล่าว และมองว่า เอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว  

dcfe1618edc80f97638586f2d460c6fe
ภาพประกอบ แหล่งชุมชนต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์ในเยอรมัน

ในขณะที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวยกตัวอย่างประเทศเยอรมัน ซึ่งมีประสบการณ์การติดตั้งโซลาร์รูปท็อปมากว่า 10 ปีขึ้นไปว่าเยอรมันใช้วิธีรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ทั้งหมด และหากมีการผลิตมากเกินความต้องการใช้การส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้านในราคาถูก  ส่วนกรณีผลกระทบเรื่องรายได้ของการไฟฟ้าที่ลดลงนั้น เยอรมัน ใช้วิธีกระจายภาระไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน แต่อาจมีการชดเชยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าได้บางส่วน โดยเยอรมันไม่เคยพูดเรื่องการเก็บค่า back up จากผู้ผลิตโซลาร์รูฟท็อป แม้ว่าการผลิตโซลาร์เซลล์ของเยอรมันส่วนใหญ่จะเป็นโซลาร์รูฟท็อปมากกว่าโซลาร์ฟาร์มก็ตาม

thaipublica_DSC_3053_หลุมดำพลังงาน-620x413
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
ขอบคุณภาพจาก ThaiPublica

“เยอรมันไม่ได้ลงโทษผู้ผลิตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่กระจายให้ประชาชนรับผิดชอบ และหาวิธีชดเชยให้การไฟฟ้าบ้าง ถือว่าดี เพราะเขามองว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปช่วยให้โลกสะอาด แม้จะมีปัญหาทางเทคนิคก็ยังแก้ไขเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่แก้ไขเพื่อจำกัดพลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยควรนำมาคิด เราไม่ควรเก็บค่า back up โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ที่ไม่ต้องพูดถึงหรือศึกษาด้วยซ้ำ พลังงานหมุนเวียนควรเป็นการผลิตอันดับแรกเลย เพราะโลกต้องการพลังงานสะอาด” ศ.ดร.พรายพล กล่าว

ส่วนกรณีของสหรัฐฯ ที่มีการพูดกันกว้างขวางในเรื่องการคิดจะเก็บค่า back up โดยเฉพาะในรัฐแคริฟอร์เนียที่มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สูงมาก และเคยศึกษาพบว่า หากมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เกิน 10% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ จะส่งผลกระทบให้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าลดลง รวมทั้งกรณีการผลิตไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอขึ้นกับแสงแดด เมื่อมีการผลิตมากจะส่งผลกระทบให้แรงดันไฟฟ้าในระบบให้สูงเกินไป นั้น ก็ไม่เคยใช้วิธีหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อฟ เพราะมีการใช้นำระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ(Net Metering )มาใช้ ซึ่งสามารถตรวจสอบการซื้อและขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ 

สำหรับประเทศไทยนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ต้องคิดค่า back up  เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาพบว่า หากผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ผลกระทบกับรายได้การไฟฟ้าน้อยมากเพียง  1%  ของรายได้การไฟฟ้าเท่านั้น พร้อมกันนี้ เห็นว่า รัฐควรส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโซลาร์รูปท็อปแบบเสรี ด้วยการนำระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้ ในการซื้อขายไฟฟ้าเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตามถ้ามีปัญหาทางเทคนิควรใช้วิธีป้องกัน โดยนำเทคโนโลยีสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ(สมาร์ทกริด) ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage)มาใช้ ซึ่ง ในประเทศออสเตรเลียเกิดการขายโซลาร์รูฟท็อปพ่วงแบตเตอรี่แล้ว  โดยถ้าติดตั้งบ้านต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ค่าไฟฟ้าออสเตรเลียอยู่ที่ 8-10 บาทแสดงให้เห็นว่าเริ่มคุ้มทุนแล้ว และเชื่อว่าอีกไม่นานจะเกิดการขายโซลาร์รูฟท็อปพ่วงแบตเตอรี่ ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน 

ในส่วนของการไฟฟ้าเอง เห็นว่า จะต้องปรับตัวเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะอนาคตคพลังงานหมุนเวียนทั้งโซลาร์เซลล์   ลม จะเกิดมากขึ้น จากต้นทุนการผลิตลดลง ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้เอกชนผลิตและซื้อขายไฟฟ้ากันเอง ส่วนการไฟฟ้าสามารถทำธุรกิจติดตั้ง ซ่อมบำรุงโซลาร์รูฟท็อปได้ แต่การไฟฟ้าก็ควรเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนสายส่งโดยแบ่งเขตสัมปทาน ขณะที่ภาครัฐควรปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอีกเท่าตัว

วีระพล000
ภาพ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ.


ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)และในฐานะโฆษก กกพ. ซึ่งเป็นวิทยากรร่วมเสวนาบนเวที กล่าวว่า แนวคิดจัดเก็บอัตรา back up สำหรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเองใช้เอง(IPS) ยังอยู่ระหว่างการศึกษาอัตราที่เหมาะสม และจะจัดเก็บเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ใช่ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดเล็ก เพื่อดูแลผลกระทบรายได้ของการไฟฟ้าที่ลดลง ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)กำหนดรับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 16,778 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งข้อมูล ณ เดือนพ.ค.2560 พบว่า ที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PAA) แล้ว อยู่ที่ 9,200 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ คิดเป็น 60% ของแผน AEDP

ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์​ ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์ข้อมูลและคาดการณ์เทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า การนำโซลาร์รูฟท็อปมาใช้เป็นเรื่องดี สามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโดยเฉพาะในเขตเมืองได้  ถ้าระบบกักเก็บพลังงานทั้งระดับแบตเตอรี่ขนาดเล็ก หรือ ระบบกับเก็บระดับขนาดใหญ่ๆ เช่น ปั๊มไฮโดร ต้องการวิจัยอีกมาก ซึ่งต่างประเทศนำระบบกักเก็บพลังงานไปใช้ชาร์จกับรถไฟฟ้า(EV) หรือนำไปเปลี่ยนรูปพลังงานได้เพื่อนำกลับมาใช้ในยามที่ต้องการ แต่อาจต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ทั้งนี้ในมุมนักวิชาการเห็นว่า รัฐควรพิจารณาด้านการประหยัดพลังงานมากขึ้น แทนที่จะมุ่งการผลิตไฟฟ้าปริมาณมากๆ 
ที่มา

2479 เยียมชมหน้านี้ทั้งหมด 1 ผู้เยี่ยมชมวันนี้